ถกสนั่น แม่ขอลางาน 3 วัน เฝ้าลูกป่วยหนัก เจอหัวหน้าใจดำไล่ออก อ้างมีผลต่องาน
ชาวเน็ตเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย กรณีแม่ถูกไล่ออกจากงาน หลังขอลา 3 วัน ไปเฝ้าลูกที่ป่วยหนัก-มีอาการชัก ต้องนอนแอดมิทโรงพยาบาล เจอหัวหน้าถามย้ำ ‘เมื่อไหร่จะมาทำงาน’ สุดท้ายยื่นคำขาดให้ลาออก อ้างมีผลต่องาน
โลกออนไลน์เดือด กรณีเพจเฟซบุ๊ก เจ๊ม้อย v+ โพสต์ภาพห้องแชทระหว่างลูกจ้างกับหัวหน้างาน โดยลูกจ้างแจ้งขอลาป่วยเพื่อดูแลลูกที่ป่วยหนัก ไข้ขึ้นสูงถึง 41 องศาเซลเซียส และมีอาการชัก ต้องนอนแอดมิทที่โรงพยาบาล แต่กลับถูกหัวหน้างานไล่ออกหลังขอลาหยุดเพียง 3 วัน โดยอ้างว่าการลาหยุดมีผลกระทบต่องาน
เจ้าของโพสต์ระบุข้อความว่า “คุณแม่โดนเชิญออกจากงาน เหตุเพราะว่าลางานเฝ้าลูกป่วยมาแล้ว 3 วัน น้องอายุ 2 ขวบ โดนเจาะเส้นให้น้ำเกลือ เจาะเลือดทุกวัน 3-4 ครั้ง โดนให้เลือด โดนพ่นยา นานาจิตตัง ….”
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 67 เวลา 18.55 น. ลูกจ้างได้แจ้งหัวหน้างานว่าลูกป่วยหนัก ไข้ขึ้นสูง รวมทั้งมีอาการชัก จึงรีบพาตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นแพทย์แจ้งว่าต้องนอนเพื่อรอดูอาการก่อน เธอจึงทักไปแจ้งกับหัวหน้างานว่า ขออนุญาตลางานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากนั้นช่วงเช้าของวันที่ 23 สิงหาคม 67 หัวหน้าได้เข้ามาตอบกลับว่ารับทราบ และหากคุณแม่ต้องการลางานเพิ่มต้องแจ้งล่วงหน้าทุกวัน โดยหนึ่งวันถัดมาหัวหน้างานโทรมาหาเธอ ซึ่งทั้งคู่พูดคุยกันเพียง 19 วินาที ก่อนที่จะถูกตัดสายไป จากนั้นก็ถามว่า เธอจะลางานเพื่อไปดูแลลูกทั้งหมดกี่วัน ด้านคุณแม่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากแพทย์ยังไม่แจ้งว่าลูกจะออกจากโรงพยาบาลได้เมื่อไหร่
เช้าวันต่อมา หัวหน้างานทักมาสอบถามอีกครั้งว่า วันพรุ่งนี้สามารถมาทำงานได้หรือไม่ เพราะเธอลางานมาทั้งหมด 3 วันแล้ว พร้อมยื่นคำขาดว่า หากพรุ่งนี้ไม่มาทำงานจะให้ออกจากงาน ด้านคุณแม่ที่ยังต้องดูแลลูกสาวและไม่สามารถไปทำงานได้จึงตอบกลับไปว่า ยินดีที่จะออกจากงาน รวมทั้งกล่าวคำขอโทษที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามคำสั่ง
ฝ่ายหัวหน้าสาวจึงแจ้งว่า สาเหตุที่ต้องให้ออกจากงานเพราะลาหยุดหลายวัน ซึ่งมีผลเสียต่องาน พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า “สามารถสิ้นสุดการทำงานได้เลยนะคะ”
โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ชาวเน็ตเห็นต่างเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝั่งของคุณแม่และบริษัท ส่วนหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์ตำหนิหัวหน้างานที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจ ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกน้อง
ในขณะเดียวกัน บางส่วนก็เข้าใจในมุมมองของนายจ้างและบริษัทที่ต้องการพนักงานที่สามารถทำงานได้เต็มที่ และมองว่าการลาหยุดบ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่องาน
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้ามาแชร์ประสบการณ์คล้ายคลึงกัน โดยบางคนเคยเจอนายจ้างที่ใจดีอนุญาตให้ลางานไปดูแลลูกที่ป่วยได้โดยไม่หักเงินเดือน
“อย่าบ้าอำนาจให้มันมากครับ คนเราทุกคนมีหน้าที่อยู่ที่ทำงานมีตำแหน่ง แต่พอเลิกงานผมเชื่อว่าเราทุกคนก็มีพ่อ แม่ ลูก หรือญาติพี่น้องกันทั้งนั้น เรื่องแบบนี้ใจเขาใจเรานะครับ (บริษัทอย่ารักให้มาก ถ้าเราทำผิดเขาก็ให้ออกและพร้อมหาคนมาแทนเราได้ตลอด) เพราะฉะนั้นควรมีความเป็นมนุษย์ควรเห็นอกเห็นใจลูกน้องหรือครอบครัวเขาบ้างนะครับ คุณหัวหน้า”
“เขาทำธุรกิจ ไม่ได้ทำมูลนิธิ เข้าใจในมุมนายจ้างนะ เค้าต้องการพนักงานที่ทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สมกับเงินที่เขาจ้าง ก็ไม่ผิดนะ และก็เห็นใจคุณแม่มาก ๆ ด้วย มันไม่อะไรสำคัญเท่าชีวิตลูกแล้ว เข้าใจจริง ๆ ยังไงก็เอาใจช่วยให้คุณแม่ได้องค์กรที่เข้าใจ และขอให้น้องปลอดภัยหายป่วยในเร็ววันนะคะ”
“เขาถึงบอกต่อไห้ทำงานจนตัวตายสุดท้ายคุณก็จะได้แค่พวงหรีด แล้วเขาก็จะเอาคนอื่นมาทำแทนเลือกคนในครอบครัวดีกว่าครับ”
“เคยทำงานกับเจ้านายเก่า ขอลางานเจ้านาย 7 วันไปเฝ้าลูกที่รพ. ลูกผ่าตัดไส้ติ่ง เจ้านายใจดีมากไม่หักตังค์เลย”
“ให้ออกก็ต้องจ่ายค่าชดเชยนะคะ ไม่ใช่บังคับให้เค้าเขียนใบลาออก”
ภาพจาก Facebook : เจ๊ม้อย v+
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาวพม่า บ่นอุบ เที่ยววัดโพธิ์ เจอเก็บค่าเข้า 300 ทั้งที่ทำงานอยู่ไทย ชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น
- สาวเล่าประสบการณ์ ถูกสามีนอกใจ คบรุ่นน้องที่ทำงานวัย 24 สุดช้ำเพื่อนสนิทรู้เห็นทั้งหมด
- สรุปปม ‘น้องพร’ แอบสัมพันธ์ลับ ‘ช่างกิต’ หลังถูกขุดแชตกลุ่มที่ทำงาน