ข่าวต่างประเทศ

สลด ลูก 6 ขวบถูกไฟดูด เพราะสายไฟเครื่องซักผ้ารั่วนิดเดียว แม่ตกใจรีบช่วยดับซ้ำอีกศพ

วันนี้ 13 สิงหาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน ไดอานา มิเชล มาชาโด ซานโตส ดา ซิลวา วัย 30 ปี อาชีพครู และปิเอโตร วินิเซียส ซานโตส เด โอลิเวรา วัย 6 ขวบ เสียชีวิตในบ้านอย่างน่าเวทนาย่านฟอร์โมซา เมืองทิมอน รัฐมารันเยา ประเทศบราซิล ตำรวจคาดว่าไดอานาเห็นลูกชายถูกไฟฟ้าดูด จึงเข้าไปช่วยและถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตไปด้วย

ตำรวจระบุว่า ทั้งครูและลูกชายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรีบรุดหลังได้รับแจ้ง พบผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ได้ส่งศพไปยังห้องเก็บศพในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุและสถานการณ์การเสียชีวิตที่แน่ชัด

ตำรวจท้องถิ่นกล่าวว่า เด็กชายถูกไฟฟ้าดูดหลังจากสัมผัสราวเหล็กที่สัมผัสกับสายไฟที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องซักผ้า จากนั้นไดอานาก็สัมผัสกับกระแสไฟฟ้าเมื่อเธอพยายามช่วยลูกชายคนเดียว

โฆษกตำรวจกล่าวว่า “สายไฟต่อพ่วงสัมผัสกับราวเหล็กในบ้าน ซึ่งมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากสายไฟเปลือย เด็กสัมผัสราวและถูกไฟฟ้าดูด”

หลังเกิดโศกนาฏกรรม ร้อยโทราฟาเอลโล คาร์วัลโญ จากหน่วยดับเพลิงทิมอน ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ประชาชนควรทำหากพบใครบางคนที่ถูกไฟฟ้าดูดว่า

“ขั้นตอนแรกคือการระบุว่าเกิดอะไรขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร จุดประสงค์คือเพื่อพยายามช่วยเหลือและไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อไปด้วย”

“สิ่งสำคัญคือต้องตั้งสติให้ดี แล้วรีบดูว่าคนนั้นโดนไฟดูดตรงไหน มือ เท้า หรือส่วนไหน แล้วก็ดูว่ามีสายไฟขาดตกอยู่แถวนั้นไหม หรือมีน้ำขังที่อาจทำให้ไฟดูดเพิ่มขึ้นไหม ทุกบ้านควรจะรู้ว่าตู้เบรกเกอร์ไฟฟ้าอยู่ตรงไหน จะได้ไปปิดสวิตช์ตัดไฟได้ทันทีถ้ามีเหตุฉุกเฉิน แต่ถ้าหาไม่เจอหรือทำไม่ได้ ให้รีบโทรแจ้งฉุกเฉินทันที”

แม่ลูกเสียชีวิต

วิธีช่วยเหลือคนเมื่อถูกไฟดูดอย่างปลอดภัย

คนกำลังถูกไฟดูดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็วแข่งกับเวลา แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องด้วย เพื่อให้ปลอดภัยทั้งคนถูกไฟดูดและคนช่วยชีวิต เบื้องต้นควรปฏิบัติตามดังนี้

1. ประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็ว (5-10 วินาที)

มองหาแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่กำลังทำให้เกิดอันตราย ตรวจสอบสภาพแวดล้อมว่ามีอันตรายอื่นๆ หรือไม่ เช่น น้ำท่วมขัง หรือวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า

2. แจ้งขอความช่วยเหลือ

ตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือโทรแจ้ง 1669 หรือหมายเลขฉุกเฉินในพื้นที่ของคุณทันที

3. ตัดกระแสไฟฟ้า (สำคัญที่สุด)

หาทางตัดกระแสไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด โดยปิดสวิตช์ไฟหลัก หรือถอดปลั๊กอุปกรณ์ที่เป็นสาเหตุ หากไม่สามารถตัดไฟได้ ให้ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ไม้แห้ง หรือพลาสติกแข็ง เพื่อแยกผู้ประสบเหตุออกจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้า อย่าใช้วัสดุที่เปียกหรือเป็นโลหะเด็ดขาด

4. ตรวจสอบอาการผู้ประสบเหตุ

เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว เข้าไปตรวจสอบการหายใจและชีพจรของผู้ประสบเหตุ หากไม่หายใจหรือไม่มีชีพจร ให้เริ่มทำ CPR ทันที (หากคุณผ่านการอบรม)

5. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ตรวจหาบาดแผลไหม้และทำการปฐมพยาบาล โดยใช้น้ำเย็นสะอาดราดบริเวณที่ไหม้ ห้ามใช้น้ำแข็งหรือครีมทาแผลไหม้โดยตรง หากผู้ประสบเหตุรู้สึกตัว ให้นอนราบและยกเท้าสูงเล็กน้อย เพื่อป้องกันภาวะช็อก

6. เฝ้าระวังอาการ

สังเกตอาการผู้ประสบเหตุอย่างใกล้ชิดจนกว่าทีมแพทย์ฉุกเฉินจะมาถึง หากอาการแย่ลง ให้พร้อมที่จะทำ CPR (ถ้าคุณได้รับการฝึกอบรม)

7. ส่งต่อข้อมูลให้ทีมแพทย์ฉุกเฉิน

เมื่อทีมแพทย์ฉุกเฉินมาถึง ให้แจ้งข้อมูลสำคัญทั้งหมดที่คุณทราบ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น และการปฐมพยาบาลที่คุณได้ทำไปแล้ว

8. ข้อควรระวังสำหรับผู้ช่วยเหลือ

อย่าสัมผัสตัวผู้ประสบเหตุโดยตรงหากยังไม่แน่ใจว่าได้ตัดกระแสไฟฟ้าแล้ว ถ้าพื้นเปียก ให้ยืนบนวัสดุแห้งที่เป็นฉนวน เช่น แผ่นไม้แห้ง หรือหนังสือพิมพ์หนาๆ ถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกก่อนเข้าช่วยเหลือ หากรู้สึกไม่มั่นใจหรือไม่ปลอดภัย ให้รอทีมกู้ภัยมืออาชีพ

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button