ข่าว

ยืนงงเกาหัว ร้านอาหารไทยในฮ่องกง ตั้งชื่อไทยแท้ อ่านสิบตลบยังมึนตึ้บ

คนไทยอึ้ง เจอป้ายร้านอาหารภาษาไทยในฮ่องกง สะกดด้วยตัวอักษรไทยแต่วางตัวอักษรและสระสลับที่กันจนคนอ่านมึน เจ้าของโพสต์เฉลยถึงกับร้องอ๋อ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก รักภาษาไทย อย่าใช้ผิด โพสต์ภาพป้ายชื่อร้านอาหารภาษาไทยในฮ่องกง ที่แม้แต่คนไทยเองก็อ่านไม่ออก เนื่องจากตัวอักษรภาษาไทยและสระวางเรียงไม่ถูกตำแหน่ง ทำให้ไม่สามารถรู้ความหมายที่แท้จริงได้ เจ้าของโพสต์แชร์ภาพพร้อมระบุแคปชั่นว่า “ร้านอาหารไทยในฮ่องกง ชื่อร้านอ่านว่า…….. (ลองอ่านดูค่ะ อย่าเพิ่งดูเฉลย)”

ภาพดังกล่าวปรากฏหน้าร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในฮ่องกง มีลูกค้าเข้าใช้บริการอย่างหนาแน่น รวมทั้งมีการตกแต่งร้านและเสาด้วยก้อนอิฐสลักลายไทยสวยงาม และมีป้ายโปรโมทเมนูแนะนำของร้าน ได้แก่ ปูผัดผงกะหรี่

นอกจากบรรยากาศร้านที่สวยงามแล้ว ป้ายชื่อร้านก็น่าสนใจและสะดุดตาเช่นเดียวกัน เพราะหากคนไทยเดินมาผ่านมาอาจไม่ทราบว่าร้านดังกล่าวมีชื่อว่าอะไร เนื่องจากตัวอักษรภาษาไทยวางเรียงกันผิดรูปแบบ เป็นคำว่า “อมเัถ อมเัถ”

เจ้าของโพสต์คาดว่าร้านอาหารดังกล่าวน่าจะแปลชื่อร้านอาหารจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยโดยนำตัวอักษรมาแทนที่กัน ซึ่งคำว่า “อมเัถ อมเัถ” น่าจะมาจากคำว่า “Chin Chin” โดยตัว “C” คือตัวอักษร “อ” เมื่ออ่านแบบกลับหัว ต่อมาคือตัว “h” ใช้แทนตัว “ม” ส่วนตัว “i” เป็นสระ “เ” รวมกับเครื่องหมายไม้หันอากาศ และตัว “n” ใช้แทนตัว “ถ”

เพจดังโพสต์ภาพร้านอาหารไทยในฮ่องกงที่ใช้ภาษาผิดจนอ่านไม่ออก
ภาพจาก : รักภาษาไทย อย่าใช้ผิด

นอกจากนี้ยังมีชาวเน็ตตาดีจับสังเกตได้ว่าถังสเตนเลสที่วางตกแต่งร้านนั้นมีภาษาไทยแปะอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการเขียนสะกดคำที่ถูกต้อง คำว่า “คราฟต์เบียร์” (craft beer) คาดว่าร้านอาหารดังกล่าวน่าจะจัดจำหน่ายเบียร์ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตสไตล์อเมริกัน

ภายหลังมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นเชิงขบขันเป็นจำนวนมาก ชาวเน็ตไทยช่วยกันระดมความคิดไปต่าง ๆ นาน บางส่วนมองว่าน่าจะเป็นภาษาไทยคำว่า “อมเถอะ” “อมถ้วย” หรือคาดเดาว่าเป็นชื่อร้านภาษาอังกฤษคำว่า “Chia Chia”

อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าให้ข้อเสนอแนะว่าแม้แต่ชาวไทยเองยังไม่เข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้ แล้วชาวต่างชาติจะเข้าใจหรือไม่ ทั้งยังมองว่าก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ร้านอาหารจีนเข้ามาเปิดธุรกิจที่ไทยแล้วแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทย แต่กลับกลายเป็นคำหยาบคาย แสดงให้เห็นว่าร้านอาหารหรือร้านค้าต่าง ๆ นั้นไม่ได้ใช้คนไทยหรือที่มีความรู้ด้านภาษาไทยมาแปลความหมายให้จึงเกิดข้อผิดพลาดขึ้น

“อะปัตติเย อะปัตติเถเถนา”

“อมเถอะ อมเถอะ?”

“อมถ้วย”

“ผมว่า Chia Chia ขอบคุณ”

“ถเม้อ = ขอบคุณ บ้านพี่เมืองน้อง “

ชาวเน็ตคอมเมนต์เดาว่าป้ายร้านอาหารดังกล่าวหมายถึงอะไร
ภาพจาก : รักภาษาไทย อย่าใช้ผิด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button