ข่าว

คุณค่าโดดเด่น ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “ภูพระบาท” เป็นมรดกโลก แห่งที่ 5 ของไทย

20 ปีที่รอคอย ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของไทย แห่งที่ 2 ของอุดรธานี นายกฯ เศรษฐา ยืนหยัดพร้อมอนุรักษ์และปกป้องต่อไป

วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00 น. ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ จังหวัดอุดรธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) นับว่าเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535

ภาพจาก : FB อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เผยว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เพิ่งได้รับการประกาศในปีที่ผ่านมา

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ภาพจาก : FB กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ผ่านระบบวิดีทัศน์ ภายหลังคณะกรรมการมรดกโลกฯ มีมติให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ด้วยเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ในกลุ่มของภูมิทัศน์วัฒนธรรม กล่าวว่า

“ขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาที่พิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” ด้วยตระหนักถึงเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value: OUV) ซึ่งทำให้ในปัจจุบันไทยมีรายชื่อแหล่งมรดกโลกรวมจำนวน 8 แห่งประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติจำนวน 3 แห่ง ทำให้จังหวัดอุดรธานีจะเป็นจังหวัดเดียวในไทยที่เป็นที่ตั้งแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 แห่ง

แหล่งมรดกโลกภูพระบาทฯ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา เป็นตัวแทนวัฒนธรรมสีมาที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยทวารวดีที่มีอายุราวศตวรรษที่ 8 และนับเป็นแหล่งที่ตั้งแหล่งใบเสมาที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนภูพระบาทฯ เป็นมรดกโลกในวันนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อไทย และนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นต่อไปในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องแหล่งมรดกโลกในทุกระดับตลอดจนดำเนินการยกระดับการมีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอีกทางหนึ่ง และหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกคนในการเดินทางมาเยือนไทย เพื่อเยี่ยมชมภูพระบาทฯ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับล่าสุดของไทย”

ประวัติความเป็นมา ภูพระบาท จ.อุดรธานี

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม

จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป

สมเด็จพระเทพ เสด็จฯ พิธีเปิด ภูพระบาท

ภูพระบาท ตามความเชื่อขออชาวอีสาน

ภูพระบาทตามความเชื่อของชาวอีสานและชาวลาวในอดีตได้นำศาสนาสถานและร่องรอยโบราณสถานผูกเรื่องราวกับตำนาน และวรรณกรรมของชาวลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังลุ่มแม่นำโขงมาโปรดสัตว์ที่ภูพระบาทอันเป็นที่อยู่ของพญานาค 2 ตนแล้วประทับรอยพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการบูชา ได้แก่ รอยพระพุทธบาทบัวบก และรอยพระพุทธบาทบัวบาน

หรือวรรณกรรมอีสานพื้นบ้าน เรื่อง พระกึดพระพาน มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับภูพระบาท เช่น นางอุสา ท้าวบารส เป็นต้น ตำนานและวรรณกรรมพื้นบ้านเหล่านี้ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากภูพระบาทต่อความเชื่อและจิตใจของชาวอีสานมาช้านาน

การค้นพบด้านโบราณคดี

1. ภาพเขียนสียุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000–2,500 ปีก่อนประวัติศาสตร์

2. ศาสนสถานสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12–16

3. ศาสนสถานสมัยล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21–23

4. โบราณสถานที่บูรณะสมัยรัตนโกสินทร์

การเดินทางไปยัง ‘ภูพระบาท’ มรดกโลกแห่งที่ 5 ของโลก

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี 55 กิโลเมตร เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีไปตามถนนมิตรภาพช่วงอุดรธานี-หนองคาย จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 2021 ระยะทาง 43 กิโลเมตร ถึงอำเภอบ้านผือ แล้วเดินทางจากอำเภอบ้านผือ (มีป้ายบอกเส้นทางไปอุทยานฯ) ไปอีก 12 กิโลเมตรจึงจะถึงที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

สถานที่สำคัญในอุทยานฯ

  • หอนางอุสา
  • ถ้ำพระ
  • ถ้ำวัว-ถ้ำคน
  • ภาพเขียนสีโนนสาวเอ้
  • หีบศพนางอุสา
  • วัดลูกเขย
  • วัดพ่อตา
  • ถ้ำช้าง
  • กู่นางอุสา
  • ผาเสด็จ
  • คอกม้าท้าวบารส
  • คอกม้าน้อย
  • บ่อน้ำนางอุษา
  • เพิงหินนกกระทา
  • ฉางข้าวนายพราน
  • อูปโมงค์
  • ถ้ำฤๅษี
  • ถ้ำปู่เจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท, กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, thaigov, th.wikipedia

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button