คนเลี้ยงปูปวดหัว ทิ้งบ่อตากแห้ง 2 เดือน ฝนมาแป๊ปเดียว “หมอคางดำ” แพร่กันสนุก
พันธุ์อึด เจ้าของฟาร์มปู ทิ้งบ่อตากแห้ง 2 เดือน เจอฝนมาไม่นาน ปลาหมอคางดำ กลับมาแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว รับท้อใจหนัก ไม่สามารถสูบน้ำเข้าบ่อ เลี้ยงปูสร้างรายได้ ได้เหมือนเดิม
ถ้าคุณยังนึกถึงความทรหดของปลาหมอคางดำ ชนิดนี้ไม่ออก ขอแนะนำให้ไปฟังเรื่องเล่าจากปาก “เจ้าของบ่อเลี้ยงปูดำ” ซึ่งรายงานจากมติชน ระบุ คนเลี้ยงปูรายนี้ต้องเจอกับปัญหาแพร่พันธุ์ของเจ้าปลาสายพันธุ์ปัญหานี้ ขนาดที่ว่าปล่อยบ่อทิ้งตากแดดนานกว่า 2 เดือน เพื่อหวังลงปูดำเลี้ยงรอบใหม่ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด
นางระเบียบ ดวงดี เกษตรกรผู้เลี้ยงปูดำ ต.ท่าบอน อ.ระโนด ของสงขลา เล่าว่า ตนเองยอมสูบน้ำเพื่อตากบ่อเลี้ยงปูให้แห้ง 2 เดือน
หวังงว่า เมื่อบ่อแห้งเป็นเวลานาน ๆ ปลาหมอคางดำก็คงจะหายไป แต่ปรากฏไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพอฝนตลงมาไม่นานก็ส่งผลให้พื้นดินในบ่อชื้นแฉะ สังเกตในจุดที่มีน้ำเพียงเล็กน้อยพบว่ามีปลาหมอคางดำกลับมาแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว แถมยังใช้เวลาไม่นานด้วย
เจอแบบนี้ เจ้าของบ่อปูถึงกับสารภาพ “รู้สึกท้อใจ” เพราะปัญหาปลาหมอคางดำนี้ ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำเข้าบ่อ เลี้ยงปูเพื่อสร้างรายได้อีกครั้ง
ด้าน สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการลดจำนวนปลาหมอคางดำ ในจุดที่พบการแพร่ระบาดใหม่ คือ คลองเป็ด ที่มีปลาหมอคางดำจำนวนมาก
ขณะเดียวกันยังเตรียมปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวประมาณ 30,000 ตัว ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ และเร่งวางมาตรการร่วมกับสำนักงานชลประทานจังหวัดเพื่อป้องกันปลาหมอคางดำไหลตามน้ำไปแพร่ระบาดในอำเภออื่น ๆ
อ้างอิงข้อมูลจากไทยพีบีเอส ประเด็นการระบาดของปลาหมอคางดำ นายวินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวถึงสถานการณ์ตอนนี้ ถือว่าเผชิญการระบาดในระดับรุนแรง เพราะสภาพอากาศเหมาะสม การแพร่กระจายของไข่ อาจไปโดยถูกนกโฉบพา หลุดเองลงแหล่งน้ำและคนพาไป
ผลศึกษาของกรมประมง ยังพบว่าปลาหมอคางดำกินดุ กินหมดบ่อได้ใน 3-4 ชั่วโมง จนเกิดความเสียหายมากใน 17 จังหวัด ข้อมูลสัตว์น้ำกุ้งขาวมากที่สุด 72% พบว่ากลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงระบบเปิดเกิดความเสียหายกว่าระบบปิด.
อ่านข่าวเพิ่มเติม