“ปลาหมอมายัน” บุกเพิ่ม เอเลียนสปีชีส์ กรมประมงห้ามนำเข้า กลุ่มเดียวกับคางดำ
พบ “ปลาหมอหมายัน” เอเลียนสปีชีส์ ที่วังกุ้ง จังหวัดสมุทรปราการ กรมประมงออกประกาศ ห้ามเพาะเลี้ยงและนำเข้า
หลังจากที่มีกระแสปลาหมอคางดำจำนวนมาก ขยายพันธุ์ตามลำคลองทั่วประเทศ ล่าสุด วันที่ 22 กรกฎาคม 2567 พบเอเลียนสปีชีส์เพิ่มเติม คือ “ปลาหมอมายัน” จำนวน 6-8 ตัว ร่วมกับปลาหมอคางดำ ในพื้นที่วังกุ้ง ของนายอดิศร จันทร์สุขสวัสดิ์ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ คาดการณ์ว่าปลาหมอประเภทนี้สามารถสร้างผลกระทบได้ใกล้เคียงกับปลาหมอคางดำ แต่ขยายพันธุ์ได้ช้ากว่า
ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid) หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mayaheros urophthalmus คือ สัตว์น้ำต่างถิ่นประเภทหนึ่งที่ทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำ และพันธุ์ปลาพื้นถิ่นอื่น ๆ มีเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ คือ แถบสีดำ จำนวน 7 แถบบริเวณลำตัว
ในวันที่ 19 มีนาคม 2561 กรมประมงได้ออกประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3 ชนิด คือ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อีกทั้ง กรมประมงยังได้อาศัยความตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ในวันทึ่ 16 สิงหาคม 2564 เพื่อป้องกันอันตรายมิให้เกิดกับสัตว์น้ำและระบบนิเวศ
ในลิสต์รายชื่อสัตว์น้ำ 13 ชนิดที่ห้ามเพาะเลี้ยงดังกล่าว มีปลาหมอมายัน และปลาหมอคางดำร่วมอยู่ด้วย การพบปลาหมอมายันในพื้นที่จังหวัดสมุทปราการ ร่วมกับปลาหมอคางดำ จึงเป็นสัญญาณเตือนว่าพันธุ์ปลาเอเลียนสปีชีส์ กำลังรุกรานแหล่งน้ำ และแหล่งทำกินของชาวบ้าน
แม้ว่าจะมีการประเมินเบื้องต้นว่าปลาหมอมายัน ขยายพันธุ์ได้ช้า และกินอาหารน้อยกว่าปลาหมอคางดำ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะยังไม่มีผลการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าปลาหมอชนิดนี้ รวมถึงสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดอื่นที่กรมประมงสั่งห้ามเพาะเลี้ยง ได้แพร่พันธุ์ไปยังแหล่งน้ำอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แฉยับ “ปลาหมอคางดำ” ใครเอาเข้ามา กินได้ไหม อันตรายต่อระบบนิเวศปลาไทย
- อ.เจษฎา เตือน ปลาหมอคางดำสีสวย แต่แฝงภัยอันตรายเพียบ
- รู้จัก ‘ปลากะพงขาว’ นักล่า ช่วยกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ หนทางสยบเอเลี่ยนสปีชีส์
อ้างอิง : กรมประมง
ภาพ : fishi-pedia.com, ประชาสัมพันธ์ กรมประมง