เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทางคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์เพลิงไหม้เรือ
ภาพ: เหยี่ยวข่าว ภูเก็ต
ภูเก็ต – วานนี้ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17.00 น.ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุมถอดบทเรียนเหตุการณ์เพลิงไหม้เรือ ในทะเลอันดามัน
โอกาสนี้นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิด
เมื่อวันที่(3 พ.ย.61) ว่า เวลา 16.00 น. ได้รับแจ้ง จากท่าเรือ ว่ามีเรือเอ็มเจย์ หมายเลขทะเบียน 505151738 เกิดไฟไหม้ ระหว่าง เกาะงำ กับ เกาะปายู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ในระหว่างเกิดเหตุ มีเรือยอร์ช ชื่อ เพลมอร์ ซึ่ง อยู่ใกล้เคียง เห็นเหตุการณ์ ได้เข้า ให้การช่วยเหลือผู้โดยสาร ไว้ได้ทั้งหมด 9 คน และนำ ขึ้นบริเวณท่าเรือยอร์ชเฮเว่น เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด โดย นักท่องเที่ยวทั้งหมด ทางบริษัทประกันฯ อีลิท ยอร์ชติ้ง ได้นำไปพักที่โรงแรม JW Marriott ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ส่วนเรือได้รับความเสียหายไฟไหม้ทั้งลำ และจมน้ำลงใน บริเวณที่เกิดเหตุ จากการสอบสวนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ เกิดจากภัยธรรมชาติ ฝนตกหนักฟ้าผ่าที่เรือ ทำให้เกิดไฟไหม้
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการทางคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และศาลมีคำสั่งพิพากษา นายเดวิด สตีร์วาร์ต ทอย ( MR.DAVID STEWART TOY) (ชาวสก็อตแลนด์) กัปตันเรือและ นายไมกี้ บาร์เคอร์ (ชาวไทย)ผู้ดูแลเรือ ซึ่งเป็นจำเลยให้มีความผิดตามฟ้องทั้งนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงพิพากษาลงโทษ
จำเลยที่ 1นายเดวิด สตีร์วาร์ต ทอย ( MR.DAVID STEWART TOY) (ชาวสก็อตแลนด์) กัปตันเรือ การเป็นผู้ควบคุมเรือโดยไม่มีใบรับรองความสามารถ รับโทษจำคุก 3 เดือน ปรับเป็นเงิน 3,000 บาท
และ จำเลยที่ 2 นายไมกี้ บาร์เคอร์ (ชาวไทย)ผู้ดูแลเรือ ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ใช้เรือผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต รับโทษจำคุก 2 เดือนปรับเป็นเงิน 2,000 บาท โดยโทษจำคุก ของจำเลยทั้งสองให้รอ การลงโทษมีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจังหวัดจะให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนกู้ชีพกู้ภัยและแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้การเข้าถึงการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวเมื่อเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะในเรื่องของการรู้พิกัดของการเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดภัยพิบัติในทะเลอันดามันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการวางแผนเพื่อให้รู้เป้าหมายที่ชัดเจนเมื่อเกิดเหตุจะได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือและกู้ชีพกู้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
พร้อมกันนี้ระบบการจัดการประเด็นข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาเสนอเป็นข่าวสารจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วครบถ้วนถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดภูเก็ต
นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เพื่อให้การเผชิญเหตุในภาวะวิกฤติเป็นไปอย่างรวดเร็วทางจังหวัดจะจัดทำเครือข่ายอาสาแจ้งข่าวและเครือข่ายภาคเอกชน ที่มีความพร้อมในการกู้ชีพกู้ภัย มาร่วมบูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้การกู้ชีพกู้ภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ตามกรอบแนวทางของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต/ข่าว