กรมควบคุมโรค เผยสาเหตุ ทำไมโควิด-19 กลับมาระบาด หลังสงกรานต์ 67
เช็กอาการให้ดี กรมควบคุมโรค เผย โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งหลังสงกรานต์ 2567 สาเหตุหลักผู้ป่วยไม่ป้องกันตนเอง ชี้อาการไม่รุนแรงมาก พร้อมวิธีสังเกตอาการ หากเป็นหวัดให้รีบตรวจ ATK ทันที
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน มีอาการคล้ายกับหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากป่วยให้ควรปรึกษาแพทย์ทันที
สถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 20 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,004 ราย เฉลี่ยวันละ 143 ราย ซึ่งเป็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาดไว้ พบผู้ป่วยมากขึ้นในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง (608) ทั้งหมด
สรุปสาเหตุ โควิด-19 ระบาดหนักหลังสงกรานต์
ด้านสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระมัดระวังในการป้องกันตนเอง ส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า เป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ซึ่งยังไม่พบระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น หากเทียบกับสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน โรคโควิด-19 มีลักษณะเหมือนโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี จะพบผู้ป่วยมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ซึ่งอาการมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด ทั้งนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากร เตียงรองรับผู้ป่วยเวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี
ประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล และส่งเสริมให้มีการสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และจำเป็นต้องล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบาก
สำหรับกลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสายด่วนของกรมควบคุมโรคได้ที่ 1422
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘พัดลมคล้องคอ’ อันตรายห้ามใช้! สคบ. เตือน เสี่ยงเป็นมะเร็ง
- 6 สัญญาณเตือน มะเร็งลำไส้ใหญ่ รีบพบแพทย์ ห่วงคนอายุน้อยแนวโน้มป่วยพุ่ง
- ‘แอมโมเนีย’ คือสารอะไร อันตรายไหมหากสูดดม สรุปเข้าใจง่าย