วิธีเดินทางไหว้ “พระบรมสารีริกธาตุ” เชียงใหม่ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” 5-8 มี.ค. 67
ภายหลังจากที่ เปิดให้ประชาชนชาวกรุงเทพและทั่วประเทศเข้าสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ ณ ท้องสนามหลวง จนถึงเวลา 21.00 น. เป็นวันสุดท้าย จากนั้นจะมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐานต่อ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์
ชาวเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนพื้นที่ใกล้เคียง สามารถเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้ที่ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ระหว่างวันที่ 5-8 มีนาคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ร.10 ในโอกาสครบรอบ 72 พรรษา
ในวันดังกล่าว ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ งดให้บริการชมสวนและออกกำลังกาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้พุทธศาสนิกชนเข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย
กำหนดการ ไหว้พระบรมสารีริกธาตุ จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับกำหนดการอัญเชิญในวันที่ 4 มี.ค. 67 เวลา 17.00 น. จังหวัดเชียงใหม่ จะจัดริ้วขบวนอัญเชิญนเครื่องสักการะล้านนา ขบวนช่างฟ้อนพื้นเมือง ขบวนธงชาติไทย ธงชาติอินเดีย ธงธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสี ขบวนรถบุษบก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ และขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ เคลื่อนจากประตูช้างค้ำมายังหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ขึ้นสู่มณฑปที่ประดิษฐานบนหอคำหลวง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าในจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมสักการะ
วันที่ 5 – 8 มีนาคม 2567 จะเปิดให้ศาสนิกชนเข้ากราบสักการะ โดยจะทำการเปิดรับบัตรคิวรอบเช้าเวลา 08.00 น. จำนวนไม่เกิน 3,000 คน และรอบบ่าย เวลา 12.00 น. จำนวนไม่เกิน 3,000 คน ณ บริเวณเต็นท์ลงทะเบียนวงเวียนราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ และในทุกๆ ช่วงเย็นเวลา 18.00 – 19.00 น. จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งจะหยุดพักไม่อนุญาตให้ขึ้นสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ บนหอคำหลวง แต่สามารถไหว้สักการะ รอบๆ หอคำหลวงได้ และจะปิดการเข้าสักการะในเวลา 21.00 น
หลังจากนั้น วันที่ 10-13 มีนาคม 2567 พระบรมสารีริกธาตุ จะย้ายไปประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี วันที่ 15-18 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ เมื่อลุล่วง จะนำส่งคืน ให้สาธารณรัฐอินเดียต่อไป
หอคำหลวง ที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ
“หอคำหลวง” เป็นส่วนแสดงสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุด เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่ทรง อัจฉริยภาพและ ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิดว่า “พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย”
นั่นคือที่มาของอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา “หอคำหลวง” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานคณะอนุกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ“หอคำหลวง”
หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ท่ามกลางเนื้อที่กว่า 470 ไร่ ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สองข้างทางเดินสู่หอคำหลวงเต็มไปด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ ส่งให้หอคำหลวง เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดอีกทั้งตระการตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ประดับตกแต่งในบริเวณเสาซุ้ม ซึ่งออกแบบได้สวยงามตามอย่างสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ ๆจำนวนมากถึง 30 ซุ้ม
หอคำหลวง ที่งดงามตระการตานี้ ผ่านกระบวนการคิด การออกแบบ จากช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนานับสิบคน ถ่ายทอดผลงานอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา ให้งามสง่าท่ามกลางงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และหนึ่งในทีมงานสร้างครั้งนี้มี คุณรุ่ง จันตาบุญ หรือ ช่างรุ่ง สล่าล้านนา ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านนา (อ้างอิงจาก : royalparkrajapruek)
วิธีการเดินทางไปอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่
รถยนต์ส่วนตัว
-
- เริ่มต้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปทางถนนห้วยแก้ว (ทางหลวงหมายเลข 1004)
- เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนคันคลองชลประทาน (ทางหลวงหมายเลข 121) ไปอำเภอหางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร
- เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ ประมาณ 2 กิโลเมตร
- สังเกตป้ายอุทยานหลวงราชพฤกษ์ อยู่ทางซ้ายมือ
รถสาธารณะ
- ขึ้นรถสองแถวสีแดงสาย 10 จากคิวรถสองแถวหน้าประตูท่าแพ มุ่งหน้าไปทางหางดง
- ลงรถที่หน้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์