ตอบแล้ว “ตากระตุก” ไม่ใช่ลางร้าย แต่เป็นสัญญาณเตือน จากร่างกาย
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ ตากระตุก รู้สึกเหมือนมีอะไรมาดึงเปลือกตาให้กระตุกวูบวาบ บางคนอาจกังวลว่าเป็นลางร้าย ตามความเชื่อไทยโบราณ “ขวาร้าย ซ้ายดี” แต่ในทางการแพทย์บอกว่า อาจเป็นสัญญาณเตือนด้านสุขภาพร่างกาย ที่บ่งบอกถึงสาเหตุของโรคต่าง ๆ หากเกิดอาการบ่อยครั้ง อย่าปล่อยไว้นาน อันตรายกว่าที่คิด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการปรึกษาเบื้องต้น
ที่ผ่านมา หลายคนคงเคยรู้สึกถึงอาการ “ตากระตุก” อย่างแน่นอน และก็คงจะหนีไม่พ้นหลักความเชื่อสมัยโบราณที่ว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” คิดว่าเป็นอาการบอกเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าหากมีอาการเมื่อใด ก็จะต้องตบตาขวาของตัวเอง แล้วโยนทิ้งไป เพราะเชื่อว่า เป็นเคล็ดที่ควรทำ หรือโยนสิ่งไม่ดีออกไป
ถ้ามองในมุมการแพทย์ อาการตากระตุก อาจเป็นสัญญาณเตือนด้านสุขภาพร่างกาย ที่บอกว่า ร่างกายอ่อนล้า ควรพักผ่อน หรืออาการบ่งบอกถึงโรคต่าง ๆ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับรายละเอียดอื่น ๆ ดังนี้
สาเหตุหลักของ ตากระตุก
1. การใช้สายตามากไป : จ้องหน้าจอคอม หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน ส่งผลทำให้ตาล้า เกิดอาการตากระตุก
2. ภาวะตาแห้ง : การขาดน้ำ ทำให้เกิดการระคายเคืองตา จึงไปกระตุ้นระบบประสาท จนเกิดอาการตากระตุก
3. การดื่มแอลกอฮอล์ : หากดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง ส่งผลต่อระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ทำให้ตากระตุก
4. ความเครียด : ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อตากระตุก
5. การพักผ่อนไม่เพียงพอ : ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อตาก็ทำงานหนัก เกิดอาการตากระตุกได้
6. การดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน : คาเฟอีนกระตุ้นระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อตากระตุก
7. โรคบางชนิด : เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
ตากระตุก อันตรายหรือไม่
อาการตากระตุก โดยปกติแล้วจะมีอาการไม่นานมาก เกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีก็หาย แต่ถ้าเกิดอาการซ้ำ ๆ อยู่บ่อยครั้ง และรู้สึกว่า ผิดปกติ โดยสังเกตจากอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ด่วน
- ตากระตุกจนเปลือกตาปิด
- ตากระตุกนานกว่า 2 สัปดาห์
- ตากระตุกร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ตาแดง ตาบวม มองเห็นภาพไม่ชัด ปวดตา เป็นต้น
โรคจากอาการ ตากระตุก
- โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy)
- โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)
- โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s Disorder)
- โรคคอบิดเกร็ง (Cervical dystonia)
- โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง (Facial Dystonia)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
- โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง (Oromandibular Dystonia)
วิธีป้องกัน ตากระตุก
1. ลดปัญหาความเครียด จัดเรียงความสำคัญในชีวิต เช่น ทำงาน หรือเรียน รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ นอนครบชั่วโมง ตามที่ควรจะเป็น อย่างนอนก็วันละ 8 ชั่วโมง
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรักษาความสะอาดของดวงตา เพื่อช่วยแก้ปัญหาตาแห้งได้ และลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
3. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งกระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานหนัก
4. ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ ค่อยอัปเดตอาการ รวมไปถึงโรคต่าง ๆ เพื่อสามารถรับรู้แนวทางแก้ปัญหาได้ทันที
5. พักสายตาเมื่อเวลาอยู่หน้าจอคอม หรือโทรศัพท์นาน ๆ แบ่งเวลาพัก ควบคู่กับท่าบริหารรอบด้วยตาไปด้วย
ทั้งนี้ อาการตากระตุก ไม่ได้เป็นเรื่องของลางบอกเหตุร้าย แต่เป็นเรื่องสุขภาพที่ทุกคนควรระวัง โดยการปรับเปีนวิธีใช้ชีวิต กินของที่ดีต่อร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการตากระตุก แต่ถ้าหากใครมีอาการเรื้อรัง เกิดบ่อยครั้งไม่หาย แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อสามารถรับการปรึกษาเบื้องต้น หรือเข้ารักษาอาการได้ทันที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง