บขส. แจงปม ‘หมอชิต 2’ บันไดเลื่อนหาอะไหล่ไม่ได้ เผย 3 ปีที่ผ่านมาขาดทุน
บขส. ชี้แจงกรณี หมอชิต 2 หลัง สส.แบงค์ ว่าสถานีมีปัญหา 14 ข้อ ชี้บันไดเลื่อนหาอะไหล่ไม่ได้ และ 3 ปีที่ผ่านมาขาดทุน เนื่องจากโควิด
จากกรณี นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. กทม เขต 9 (จตุจักร-บางเขน-หลักสี่) พรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 พบสารพัดปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางสัญจร จนกลายเป็นประเด็นตามที่มีรายงานก่อนหน้านี้นั้น
ล่าสุด บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ชี้แจงว่า บขส. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทจดทะเบียนบริษัทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็น การบริหารงานเพื่อบริการประชาชนแบบไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน
ขอชี้แจงต่อข้อกล่าวหาของ คุณศุภณัฐ มินชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรณี พื้นที่การให้บริการของ สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 มีความไม่เรียบร้อย ถึง 14 ประการ โดยชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1) ข้อกล่าวหาต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บันไดเลื่อนเสีย ลิฟต์ ไม่ได้ให้บริการ ห้องปฐมพยาบาลปิด ห้องให้นมบุตรปิด จุดดับเพลิงเสีย ชานชาลาไม่มีห้องแอร์
บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารงานสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ได้เช่าที่จากการรถไฟมาถึงขณะนี้เป็นเวลา 26 ปี ให้เกิดความเรียบร้อย ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ถึงแม้ว่าอาคารรับรองผู้โดยสาร ชานชาลา จะมีอายุ และได้ปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยมาโดยตลอด
โดยงบประมาณของบริษัท โดยในปัจจุบันบริษัทจำเป็นต้องปิดบันไดเลื่อนชุดที่ติดตั้งมา 26 ปี เนื่องจากไม่สามารถหาอะไหล่ได้ และถึงแม้จะเปิดได้ในข่วงเทศกาลก็จะปิดเพราะอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนหากมีเหตุคนล้นอาคารชานชาลาในช่วงเทศกาล
ส่วนลิฟต์ และระบบสาธารณูปโภค เช่น จุดดับเพลิง แอร์คอนดิชั่น ที่อาคารผู้โดยสาร นั้น ขอยืนยันว่าใช้งานได้ทุกจุด ส่วนห้องปฐมพยาบาลบริษัท เปิดให้บริการตลอด ห้องให้นมบุตร โดยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำห้อง เนื่องจากหากเปิดไว้ตลอดอาจเป็นจุดลับตาในการก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมได้
สำหรับในส่วนพื้นที่ทิ้งร้าง นั้น เป็นพื้นที่เพื่ออยู่การพาณิชย์ อยู่นอกอาคาร และเป็นส่วนการให้บริการ เดิมเป็นจุดเชื่อมต่อกับเขตเดินรถที่ 8 ของ ขสมก. แต่ในช่วงปี 2563-2566 ที่ผ่านมาไม่มีผู้เช่า บริษัทจึงทำการปิดพื้นที่
เพื่อเตรียมการพัฒนาโดยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมดและพัฒนาเป็น Transportation Hub ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการเชื่อมต่อ แบบไร้รอยต่อ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ ผังและแบบการพัฒนา ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี
2) ข้อกล่าวหาในเชิงบริการ การเชื่อมต่อผู้โดยสาร บริษัทฯ ขอเรียนยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาการให้บริการที่ผ่านมา ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่หมอชิต 2 ได้โดยระบบรถโดยสารสาธารณะได้หลายสาย และในช่วงตั้งแต่รัฐบาลได้เข้ามาบริหาร
ประเทศได้มีนโยบายในการเชื่อมต่อและบูรณาการระบบการขนส่ง บริษัทฯ จึงได้ประสานงานกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการส่งผู้โดยสารขาเข้าโดยมีจุดแวะส่ง ที่สถานี กลางกรุงเทพอภิวัฒน์ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการมาวันที่ 15 ธันวาคม 2566
มีประชาชนใช้บริการการเชื่อมต่อในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ประสานงานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ในการ จัดให้มีรถของ ขสมก. เข้ามาจอดในบริเวณชานชาชา ภายในบริเวณสถานี จำนวน 12 สาย
ซึ่ง ได้เริ่มทดลองให้บริการตลอดเดือนธันวาคม 2566 มีประชาชนใช้บริการมากถึง 77,000 ราย และจัเพิ่มจำนวนสายทางเพิ่มขึ้น ในเส้นทาที่ประชาชนเดินทาง
สำหรับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล วิน แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์เถื่อน ทาง บริษัท ได้ดำเนินการมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการ ดำเนินการจับกุมผู้บุกรุก ผู้กระทำความผิดกฎหมาย ในทุกวัน
อย่างไรก็ดี บริษัท จะทำการ จัดการขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิดผู้บุกรุกและดำเนินคดีอาญาอย่างเข้มงวดในทุกรายต่อไป
โดยยืนยันว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้มีความห่วงใยต่อบริษัทฯ ที่ประสบปัญหาการขาดทุนในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเดินทางในระบบรถขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองได้รับความนิยมลดลง ตลอดจนประสบปัญหาสถานการณ์โรคระบาด จนทำให้ประสบปัญหาการขาดทุนถึงสามปีซ้อน
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาการให้บริการในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทสามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินไปสู่สถานะที่ดีขึ้นโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายสูงขึ้นมากกว่าปี 2565 ถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอาคาร ชานชาลา และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการโดยเร็วที่สุดต่อไป
สส.แบงค์ ศุภณัฐ แฉ “หมอชิต 2” ปัญหาไร้มาตราฐาน กระทบประชาชน