กรมวิทย์ตอบเอง อาการโควิด “อาร์คตูรุส” ที่แชร์บนโซเชียล ไม่เป็นความจริง
กรมวิทย์ฯ อัพเดทสถานการณ์โควิด 19 ในไทย พบ XBB.1.9.2 มีสัดส่วนมากสุด ด้านอาการของโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 (อาร์คตูรุส) ที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ไม่เป็นความจริง
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย พร้อมเน้นย้ำ อาการโควิดอาร์คตูรุส ตามที่แชร์บนโลกออนไลน์นั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
รักษาการอธิบดีฯ เผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 2 ธันวาคม 2566 จากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 253 รายนั้น
พบสายพันธุ์ XBB.1.9.2 มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 24.5% ถัดมาคือ EG.5 คิดเป็น 23.3%, XBB.1.16 คิดเป็น 17.8% และ XBB.2.3 คิดเป็น 11.90% ด้านสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า สัดส่วนของสายพันธุ์ EG.5 และ XBB.1.92 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของสายพันธุ์ XBB.1.16 กับ XBB.2.3 มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงสองเดือนก่อนหน้า
อีกทั้งได้มีการกล่าวถึง กรณีที่มีการแชร์และส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ความว่า เตรียมพร้อมรับมือโควิด 19 ระลอกใหม่สายพันธุ์ XBB.1.16 (อาร์คตูรุส) ที่มีอาการใหม่อย่าง ไม่มีไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล จากผลวิเคราะห์สายพันธุ์ดังกล่าว ระหว่างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2566 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้จำนวน 83 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงลักษณะอาการคลินิกจากประวัติผู้ที่ติดเชื้อ สายพันธุ์ XBB.1.16 (อาร์คตูรุส) พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เสมหะ ปวดเมื่อย บางรายประมาณร้อยละ 10 มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย หอบ ร่วมด้วย ไม่พบลักษณะอาการตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล
สำหรับช่วงนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ๆ เล็กน้อย เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วยที่พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจมากขึ้น สำหรับการสวมหน้าการอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ยังเป็นมาตรการป้องกันโรคได้ผลดี ทั้งนี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงต่อไป และขอให้มั่นใจว่าทางเรายังคงเฝ้าระวังสถานการณ์และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ นายแพทย์ยงยศทิ้งท้าย
อ่านข่าวเพิ่มเติม