สืบเนื่องจากกรณี อุบัติเหตุรถทัวร์โดยสาร 2 ชั้น ประจำทางสายกรุงเทพฯ-นาทวี เสียหลักตกไหล่ทางชนต้นไม้ ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 20 ราย และเสียชีวิตอีก 14 ราย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการโดยสารรถทัวร์ 2 ชั้นมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายพยายามที่จะจำกัดการใช้งานรถบัสประเภทดังกล่าว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายไม่ให้ความร่วมมือ
จากข้อมูลอุบัติเหตุของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถทัวร์ 2 ชั้น จากจำนวนที่จดทะเบียน 10,000 คัน มีโอกาสเสี่ยงภัยสูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถทัวร์ชั้นเดียว จากจำนวนที่จดทะเบียน 10,000 คัน สูงถึง 6 เท่า วันนี้เดอะไทยเกอร์ถือโอกาสพาไปสำรวจปัจจัยความอันตรายของรถทัวร์ 2 ชั้นในประเทศไทย สามารถเกิดจากอะไรได้บ้าง
ชำแหละปัจจัยทางด้านวิศวกรรม รถทัวร์ 2 ชั้น เสี่ยงอุบัติเหตุกว่ารถทัวร์ชั้นเดียว
สำหรับปัญหารถบัส 2 ชั้น ประสบอุบัติเหตุบ่อยกว่ารถบัสแบบชั้นเดียวนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนขับรถแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รถเกิดความเสี่ยงต่อผู้โดยสารล้วนเกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรมทั้งสิ้น เพราะแม้ว่าคนขับรถจะไม่มีพฤติกรรมสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากโครงสร้างทางวิศวกรรมของรถทัวร์ 2 ชั้น ไม่ได้มาตรฐานก็ทำให้ผู้โดยสารตกอยู่ในความเสี่ยงได้
1. จุดศูนย์ถ่วงอยู่สูงกว่ารถทัวร์ชั้นเดียว
มิติของรถทัวร์ 2 ชั้น จะอยู่ที่ผู้โดยสารและสัมภาระด้านบนของตัวรถ ทำให้จุดศูนย์ถ่วงตัวรถอยู่สูงกว่ารถทัวร์ชั้นเดียวถึง 6 เท่า เกินมาตรฐาน 4 เมตร ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ จึงมีโอกาสเกิดปัญหาพลิกคว่ำได้บ่อยกว่าเมื่อใช้ยานพาหนะบนถนนที่เป็นทางเลี้ยวโค้ง
2. โครงสร้างรถไม่แข็งแรงตามมาตรฐาน
กว่าร้อยละ 80 ของรถทัวร์ 2 ชั้นในประเทศไทย เป็นยนตรกรรมที่ถูกดัดแปลงขึ้นเองตามผู้ใช้งาน ไม่ใช่รถที่ถูกผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกหรือนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีความแข็งแรงไม่ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้ตัวรถได้รับความเสียหายมากกว่ารถที่ได้รับรองมาตรฐาน
แม้หลายคนจะเคยเห็นรถทัวร์ 2 ชั้น ถูกใช้บริการในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษนั้น แต่เนื่องจากกระบวนการทางวิศวกรรมที่ได้มาตรฐานทำให้รถบัสมีลักษณะโครงสร้างที่แข็งแรง และมีจุดศูนย์ถ่วงที่ตรงตามมาตรฐาน จึงลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุเมื่อขับรถเข้าโค้งถนนได้ดีกว่า
ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาความอันตรายที่เกิดจากรถบัส 2 ชั้น ในประเทศไทย อาจจะต้องมีมาตรการในการผลิตยานยนต์ที่ได้มาตรฐานสากลมากกว่านี้ และต้องผ่านการทดสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้คนขับปฏิบัติตามกฎของกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด ก็อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาความอันตรายและความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : จส.100