อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 เป็นวันอะไร สำคัญกับการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ประชาชนเช็กเลย วันที่ 11 ธันวาคม 2566 เป็นวันอะไร มีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง เผยสาเหตุการเกิดรัฐธรรมนูญและรายชื่อรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ

เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มีวันหยุดมากมาย หนึ่งในนั้นคือ วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2566 เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยวันรัฐธรรมนูญปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เป็นย้ายวันหยุดราชการไปเป็นอีกวันแทน

Advertisements

วันรัฐธรรมนูญ ถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย

เนื่องด้วยในปี 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และได้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เพราะเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเกิดรัฐธรรมนูญ

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และประเทศไทยได้รับผลกระทบ

พระองค์ทรงแก้ไขเศรษฐกิจโดยการปลดข้าราชการออก ซึ่งเป็นสาเหตุประการแรกที่ทำให้เหล่าข้าราชการไม่พอใจ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการออกกฎหมายเก็บภาษี ทั้งภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎร ประกอบกับเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองจากชาติตะวันตกที่ส่งอิทธิพลต่อสังคมไทย ทำให้พลเรือนต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ข้าราชการทหาร และราษฎรจึงทำการปฏิวัติการปกครอง โดยมีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา, พันเอก พระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวขึ้นในตอนนั้นเอง

Advertisements
รัฐธรรมนูญไทย
ภาพจากเว็บไซต์ : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม อีกทั้งเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

หากนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” เป็นกฎหมายที่กำหนดว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย จากนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามลำดับ ดังนี้

1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุยายน – 10 ธันวาคม 2475)

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 (10 ธันวาคม 2475 – 9 พฤษภาคม 2489) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (9 พฤษภาคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (9 พฤศจิกายน 2490 – 23 มีนาคม 2492)

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (23 มีนาคม 2492 – 29 พฤศจิกายน 2494) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (8 มีนาคม 2495 – 20 ตุลาคม 2501) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ

7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 (28 มกราคม 2502 – 20 มิถุนายน 2511)

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (20 มิถุนายน 2511 – 17 พฤศจิกายน 2514) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ

9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 (25 ธันวาคม 2515 – 7 ตุลาคม 2517)

10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (7 ตุลาคม 2517 – 6 ตุลาคม 2519) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 (22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520)

12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (9 พฤศจิกายน 2520 – 22 ธันวาคม 2521)

13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (22 ธันวาคม 2521 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.

14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 (1 มีนาคม – 9 ตุลาคม 2534)

15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (9 ธันวาคม 2534 – 11 ตุลาคม 2540) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชน (11 ตุลาคม 2540 – 19 กันยายน 2549) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.

17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม 2549 – 24 สิงหาคม 2550)

18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 – 22 กรกฎาคม 2557)

19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม 2557 – 6 เมษายน 2560)

20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (ุ6 เมษายน 2560 – ปัจจุบัน)

จากทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น คณะรัฐบาลจึงประกาศให้วันรัฐธรรมนูญเป็นวันหยุดราชการของไทย หากตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ก็จะเลื่อนไปหยุดชดเชยอีกวันหนึ่งแทน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมาย และร่วมกันธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย

การปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ

ขอบคุณข้อมูลจาก เทศบาลนครสงขลา / คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button