ข่าวข่าวการเมือง

‘ชลน่าน’ จ่อเคาะขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 พิจารณาห้ามขายเหล้าคนที่เมา

ชลน่าน จ่อเคาะขยายเปิดผับถึงตี 4 ใน 4 จังหวัดท่องเที่ยว กำลังพิจารณาเสนอหลายมาตรการ เช่น ห้ามขายเหล้าคนที่เมา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายเปิดผับตี 4 ใน 4 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มในวันที่ 15 ธ.ค. ว่า เรื่องนี้ในมุมของ สธ.เราให้ความสำคัญมาก ตัวนโยบายส่งเสริมด้านเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับมิติสุขภาพด้วย อย่างน้อยต้องคงเดิมหรือไม่มากกว่าเดิม หรือมีมาตรการเข้มข้นขึ้นอาจจะดีกว่าเดิม

เพราะฉะนั้นเราให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการรองรับ คงไม่ไปคัดง้างหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาลนั่นเป็นมติ ครม.และนโยบายรัฐบาล แต่หน้าที่เราทำอย่างไรเมื่อขยายจากตี 2 เป็นตี4 ช่วงเวลาที่ขยายจะไม่ส่งผลมิติสุขภาพ เราถือกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีกฎกระทรวงรองรับ ขณะนี้กรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดในการเสนอมาตรการ เพื่อให้รัฐมนตรีประกาศในกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้

“พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหลายมาตราที่ให้อำนาจไว้ เช่น การกำหนดพื้นที่การจำหน่าย ระยะเวลาจำหน่าย สภาพบุคคลที่จำหน่าย เขียนไว้ในกฎหมายแล้ว ก็แปลงมาเป็นกฎกระทรวงรองรับ ยกตัวอย่าง มาตรการที่เราพูดคุยในกรรมการกำลังจะเสนอ ยังไม่มีข้อสรุป เช่น ทำอย่างไรมาตรการควบคุมอย่างเข้มจะมีเครื่องวัดความเมา หรือวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ คนที่จะออกจากร้านไปขับรถ เป็นไปได้หรือไม่ทุกคนต้องตรวจระดับแอลกอฮอล์ ถ้ามีปริมาณที่เกินก็ต้องมีมาตรการ เช่น ร้านหรือคนควบคุมตรงนั้นต้องไม่ให้ขับรถ มีรถสาธารณะมารองรับ” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หรืออย่างตอนช่วงดื่มกินก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ว่าห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับคนที่มีอาการมึนเมา เราก็แปลงมาแล้วจะบังคับอย่างไร เช่น ไปนั่งดื่มแล้วมีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าจะเมา จะมีการตรวจวัดอย่างไรให้รู้ว่าโต๊ะนี้เข้าข่ายต้องทำตามกฎหมาย จะซื้อจะขายต่อไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ 2 ลักษณะ ระยะเวลาที่จำหน่าย กรณีร้านสถานบริการให้จำหน่ายได้ถึงเวลาที่ปิดสถานบริการ เพราะฉะนั้น ถ้าปิดถึงตี 4 ก็ขายได้ถึงตี 4 เมื่อกฎหมายขยายได้ มาตรการควบคุมก็ต้องเข้ม

เรื่องต่อไปที่กำลังคิด เครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่นิยามว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐานมีการอนุญาตมีราคาที่สูง ซึ่งหาได้ยาก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. กำลังไปพิจารณาว่าจะสามารถแบ่งแยกประเภทได้ไหม ที่ใช้กับทางการแพทย์ก็ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ไป แต่หากใช้กับตรวจวัดเป็นการทั่วไป เป็นลักษณะของการค้นหาหรือสกรีนนิ่ง จะเป็นเครื่องมือโดยทั่วไปหรือไม่ ก็จะไปดูเรื่องนี้เพื่อให้เข้าถึงเครื่องมือได้ง่ายทุกคนพกติดตัวได้ ตรวจสอบตัวเองได้ ถ้าทุกคนมีวินัยอย่างนี้มาตรการเหล่านี้จะเกิดประโยชน์มาก ไม่มีผลต่อเรื่องการขยายเวลาเปิด

จากนี้ต้องตรวจวัดทุกครั้งถ้าคุณดื่มในสถานบันเทิงก็จะต้องเข้มขนาดนั้น ดังนั้นต้องทำให้เครื่องวัดหาง่าย สามารถพกพาได้ด้วยตนเอง รู้ตนเอง รู้เพื่อน รู้กลุ่ม ถ้าคุณอยากสนุกก็ต้องสนุกบนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อชีวิตตนเองและคนอื่นด้วย

 

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button