สรุปที่มา โครงการลาดตระเวนตํารวจจีนในไทย ส่งผลเสียต่อประเทศยังไง
สรุปที่มา โครงการลาดตระเวนตํารวจจีนในไทย ส่งผลเสียต่อประเทศยังไง ย้อนรอยอิตาลี เจาะประเด็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังอิตาลีนำมาใช้
กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากภายหลังจากที่ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงถึงโครงการ ‘ตำรวจจีน’ โดยจะประสานนำตำรวจจากประเทศจีนมาลาดตระเวนในประเทศไทยตามเมืองท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง
อ้างอิงโครงการคล้ายกันนี้ที่เคยประสบความสำเร็จที่ประเทศอิตาลี แต่ยังไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนและเมือง เมื่อโครงการนี้ออกมาจะทำให้เห็นความพร้อมในการยกระดับรับนักท่องเที่ยวในเรื่องความปลอดภัย และมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวจีนช่วง 2 เดือนสุดท้าย เป็นไปตามเป้าเดิม ที่กำหนดไว้ที่ 4-4.4 ล้านคน
เมื่อถามว่ามีเหตุผลความจำเป็นอะไรที่ต้องให้ตำรวจจีนเข้ามาประเทศไทย ฐาปนีย์ กล่าวว่าเราต้องการให้ตำรวจจีนเห็นการทำงานของประเทศไทย ว่าเรายกระดับเรื่องความปลอดภัยอย่างไรบ้าง ให้เขาเป็นกระบอกเสียงส่งต่อให้กับนักท่องเที่ยวจีน เพราะคนจีนกลัวตำรวจมาก ถ้าตำรวจของเขามาแสดงความมั่นใจในเมืองไทย ก็จะช่วยยกระดับความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวจีนอีกขั้นหนึ่ง
การถูกตั้งคำถามโดยประชาชนไทย-ข้อเสียที่เกิดขึ้นหากใช้นโยบายตำรวจจีน
อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีการตั้งคำถามจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก โดยชาวเน็ตบางส่วนระบุว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประเทศจีนในไทยรึเปล่า พร้อมตั้งคำถามว่าแบบนี้เป็นการดูถูกศักยภาพตำรวจไทยหรือไม่ ซึ่ง สุทธิชัย หยุ่น นักข่าวรุ่นเก๋าก็ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว โดยถามกลับอย่างรุนแรงว่า
“ทีมงานนายกฯทำการบ้านด้วยครับ!
เรื่องตำรวจจีนไปลาดตระเวณที่อิตาลี เขาเลิกไปแล้วเพราะมันมีปัญหาหลายประการ
และยังมีรายงานจากข้อกล่าวหาของ Safeguard Defenders ว่าตำรวจจีนถูกส่งไปต่างแดนเพื่อสอดแนม-รวบตัวพวกที่ตำรวจจีนตามตัวอยู่ทั้งด้านการเมืองและอาชญากรรม
โฆษกรัฐบาลที่ออกมาปฏิเสธ หาว่าข่าวคลาดเคลื่อน มีคนดึงเข้าประเด็นการเมือง ช่วยไปอ่านที่ผู้ว่า ททท. ให้สัมภาษณ์นักข่าวด้วยครับ
ใครเสนอความคิดนี้ให้นายกฯ ครับ? ผมเป็นคนไทย ผมอายเขา!”
ทีมงานนายกฯทำการบ้านด้วยครับ!
เรื่องตำรวจจีนไปลาดตระเวณที่อิตาลี เขาเลิกไปแล้วเพราะมันมีปัญหาหลายประการ
และยังมีรายงานจากข้อกล่าวหาของ Safeguard Defenders ว่าตำรวจจีนถูกส่งไปต่างแดนเพื่อสอดแนม-รวบตัวพวกที่ตำรวจจีนตามตัวอยู่ทั้งด้านการเมืองและอาชญากรรม… pic.twitter.com/i6CHi9UCzZ
— suthichai (@suthichai) November 12, 2023
เช่นเดียวกันกับทั้ง นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่ต่างออกมาแสดงความเห็นว่าพวกตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ พร้อมชี้ว่า แนวคิดดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้น และได้รับการยืนยันแล้วว่าทุกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการนำตำรวจจีนเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะมีผลกระทบในหลายมิติ หากเริ่มต้นนำตำรวจจีนเข้ามาในประเทศไทยในวันนี้ อนาคตก็จะต้องให้ตำรวจจากชาติอื่นๆ เข้ามาด้วย และตำรวจไทยก็จะไม่มีบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม
ขณะที่บิ๊กต่อระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำตำรวจจีนเข้ามาดูแลนักท่องเที่ยวจีนในไทย เพราะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย และตำรวจไทยมีศักยภาพในการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวเพียงพอ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในอิตาลีนั้น เชื่อว่าเกิดจากปัญหาด้านการสื่อสารทางภาษา จึงมีการนำตำรวจจีนมาช่วย แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาดังกล่าว ยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ
รัฐบาลออกโรงชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการตำรวจจีน
ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณี มาตรการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวจีนเกิดความเชื่อมั่น ว่า จากการประชุมหารือเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพียงหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ที่สหรัฐฯ ในการหารือ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้หารือเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะปัญหาความปลอดภัยจากคนจีนกลุ่มสีเทา ที่เข้ามาสร้างปัญหาในประเทศไทย
โดยทาง สตช. รายงานว่า พฤติกรรมของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในมุมของคนจีนที่มาท่องเที่ยวเมืองไทย พบว่า พวกกลุ่มคนจีนสีเทา มีความเกรงกลัวตำรวจจีนด้วยกันเอง และนักท่องเที่ยวจีนจะรู้สึกปลอดภัยเป็นพิเศษจากพวกเกเรทั้งหลายที่เป็นคนจีนด้วยกันแต่มารังแกคนจีนที่มาท่องเที่ยวไทย หากมีตำรวจจีนมาช่วยดูแล เขาจะรู้สึกเชื่อมั่นเป็นพิเศษ ดังนั้น ตำรวจของไทยจึงคิดว่า กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการกำราบกลุ่มจีนสีเทา
คือ ขอให้ตำรวจจีนเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน ซึ่งปกติการทำงานร่วมกันของตำรวจสากลมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้แสดงออกให้เห็นชัดเจนขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไทยได้รับข้อมูลและเบาะแสที่แม่นยำรวดเร็วขึ้น ซึ่งตำรวจจีนมีข้อมูลและมีเบาะแสพร้อมจะให้ความร่วมมือกับตำรวจไทยเต็ม 100% และพร้อมจะให้ข้อมูลชี้เบาะแสล่วงหน้า ป้องกันไม่ให้พวกคนจีนที่คิดไม่ดีมาก่อเหตุและทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนมีความเชื่อมั่นถ้ามีตำรวจจีนมาร่วมทำงานกับตำรวจไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ข่าวที่จะให้ตำรวจจีนมาตระเวนดูแลความปลอดภัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ความจริงเพียงแค่มาร่วมมือทำงานและให้ข้อมูลเบาะแสเพื่อให้ตำรวจไทยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทยเป็นเอกราชทำไมต้องใช้ตำรวจจีนมาลาดตระเวน เรื่องที่มีลักษณะสร้างสรรค์เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเช่นนี้ ทำไมต้องบิดเบือนและลากให้ไปโยงกับเรื่องของศักดิ์ศรีของประเทศเช่นนั้น ขออย่าได้เล่นเกมวาทกรรมทางการเมืองกันจนเกินกว่าเหตุเช่นนี้เลย เรามามุ่งสมาธิให้กับการทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนกันดีกว่าไหม
จุดแตกหักของปฏิบัติการตำรวจจีนร่วมลาดตะเวนกับตำรวจอิตาลี
หากย้อนกลับไปที่ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเอาไว้นั้น ผู้ว่าการท่องเที่ยวไทยได้ระบุว่าแนวคิดตำรวจจีนเคยประสบความสำเร็จที่ประเทศอิตาลี แล้วเหตุการณ์นั้นเกิดอะไรขึ้น และเพราะเหตุใดถึงยกเลิกไป
ย้อนกลับไปเมื่อวัน 5 พฤศจิกายน ปี 2562 สำนักข่าว ซินหัว ระบุว่า จีนได้ส่งนายตำรวจ 10 นาย ร่วมลาดตะเวนกับตำรวจอิตาลีในกรุงโรม โดยมีจุดหมายมุ่งเน้นในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจีนและชาวจีนที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ท่ามกลางจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นการส่งตำรวจร่วมลาดตะเวนเป็นครั้งที่ 4 และยังได้มีการดำเนินการแบบนี้ในประเทศอื่นในยุโรปอย่างเช่น โครเอเชีย และ เซอร์เบียด้วย ก่อนที่ปฏิบัติการดังกล่าวต้องหยุดพักไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตามในวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2565 สำนักข่าว รอยเตอร์ ระบุว่า ทางการอิตาลีได้สั่งหยุดปฏิบัติการร่วมลาดตะเวนกับตำรวจจีน ภายหลังจากที่ เซฟการ์ด ดีเฟนเดอร์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงผลกำไรในสเปน ได้ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขามีหลักฐานว่ามีบ่งชี้ว่าจีนมีสถานีตำรวจลับ มากถึง 110 แห่งใน 53 ประเทศทั่วโลก และอิตาลีมีสถานีตำรวจลับมากที่สุดถึง 11 แห่ง รองลงมาคือสเปน มี 9 แห่ง
ทั้งนี้ มัตเตโอ เปอันเตโดซี รัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลีคนปัจจุบัน ออกมาโต้ว่า จากมติคณะรัฐมนตรีที่ประกาศยกเลิกโครงการดังกล่าวนั้น เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถานีตำรวจลับจีนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยอิตาลีไม่นิ่งนอนใจ และจะเร่งปราบปรามปัญหาดังกล่าวให้หมดไป และไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
สถานีตำรวจลับคืออะไร? ทำอะไรบ้าง?
อ้างอิงจากเอกสารของ เซฟการ์ด ดีเฟนเดอร์ ระบุว่า ตำรวจจีนถูกส่งไปต่างแดนเพื่อสอดแนม และรวบตัวพวกที่ตำรวจจีนตามตัวอยู่ทั้งด้านการเมืองและอาชญากรรม โดยใช้หลายวิธีในการ “โน้มน้าว” ให้เป้าหมายเดินทางกลับประเทศจีน ตัวอย่างเช่น เหวยดง อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดของจีนที่ย้ายไปอยู่แคนาดา หลังวิจารณ์ระบบตุลาการจีน ครอบครัวของเขาในจีนถูกคุมคามอย่างหนัก มีการจับกุมครอบครัว
หรืออีกกรณีคือ ตง กวงปิง นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนชาวจีน ที่เคยถูกจำคุกในจีน 3 ปีฐานะปลุกปั่น และเคยหายตัวไป 8 เดือนในปี 2557 ก่อนที่จะหลบหนีเข้ามาในไทย โดยได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทว่าพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนจับกุม ใส่กุญแจมือต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ก่อนจะถูกส่งกลับไปติดคุกในประเทศ ทั้งนี้ครอบครัวของพวกเขาได้รับอนุมัติจากรัฐบาลแคนาดา ก่อนที่ ตง กวงปิง จะได้รับการปล่อยตัวในปี 2562
ส่วนกรณีล่าสุดที่เกี่ยวกับตำรวจลับนั้น สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อช่วงวันที่ 17 เมษายน ในปีนี้ว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายหลูและนายเฉินที่อาศัยอยู่ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังทั้งสองตกเป็นผู้ต้องสงสัยฐานเป็นตำรวจลับ โดยสถานีของทั้งสองถูกปิดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในปี 2565 ทั้งนี้ทางการจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและระบุว่าสถานีพวกนี้เป็นสถานีบริการสำหรับชาวจีนในต่างแดนเท่านั้น
สถานีตำรวจลับมีที่ไหนบ้างมีในไทยไหม?
จากเอกสารของ เซฟการ์ด ดีเฟนเดอร์ ระบุว่าสถานีตำรวจลับมีหลายแห่งและหลายทวีป ทั้งในยุโรป, อเมริกาเหนือ-ใต้, เอเชีย และ แอฟริกา โดยในเอเชียนั้นเบื้องต้นพบว่ามีในอุซเบกิสถาน, มองโกเลีย, บรูไน, ญี่ปุ่น และ กัมพูชา เบื้องต้นไม่พบว่ามีในประเทศไทย
ขณะที่ในยุโรปก็มีในหลายเมืองใหญ่ ทั้งใน โรม, มิลาน, ดับลิน, อาร์มสเตอร์ดัม, ปารีส, ลอนดอน, เวียนนา, มาดริด, บาร์เซโลนา ฯลฯ