เปิดตำนานคำหลอน ธี่หยด แปลว่าอะไร มาจากภาษามอญจริงหรือ ก่อนเข้าไปรับชมภาพยนตร์สุดหลอนก่อนฮาโลวีน 26 ตุลาคม 2566 นี้ ทุกโรงภาพยนตร์
เป็นกระแสตั้งแต่ยังไม่เข้าฉาย สำหรับภาพยนตร์เรื่องธี่หยด เรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริงสุดหลอนแห่งกาญจนบุรีเมื่อหลายสิบปีก่อน ล่าสุดพึ่งฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่าน กระแสตอบรับจากผู้เข้าชมในรอบดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว สำหรับใครรอไปรับชมด้วยตาตนเอง ให้อดใจรออีกนิด
เชื่อว่าสาวกเรื่องเล่าสยองขวัญอาจเคยได้ยินเรื่องเล่า ธี่หยด กันมาบ้างแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าคำคำนี้แท้ที่จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร วันนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับคำว่าธี่หยดให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
แท้จริงแล้ว “ธี่หยด” แปลว่าอะไร
คำว่าธี่หยดแท้ที่จริงแล้วไม่มีความหมายแต่อย่างใด เพียงแต่มีการคาดเดากันว่า อาจจะเกิดจากการฟังเพี้ยนมาจากคำว่า เตี๊ยะหยด ที่เป็นภาษามอญโบราณ หมายถึง โอม เป็นคำที่ใช้เวลาจะร่ายคาถาต่าง ๆ นั่นเอง
ทั้งนี้ จากการที่ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ได้สอบถามทาง ดร.องค์ บรรจุน อาจารย์ประจำคณะวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมอญ ได้ให้คำตอบไว้ว่า ไม่เคยได้ยินที่มาของคำที่ไม่ชัด เพราะคนแวดล้อมเหตุการณ์ไม่รู้ แค่เล่าจากความทรงจำเมื่อ 50 ปีก่อน จากนั้นคนที่ฟังรายการผีจึงช่วยตีความ ลากเข้าความ ให้ภายหลังภายหลัง
ซึ่งเสียง โอม เป็นการออกเสียงแบบฮินดู ส่วน ฝั่งมอญจะออกเสียงเป็นคำว่า อูม หากจะให้หาคลังศัพท์มอญที่ใกล้เคียงกับคำว่า ธี่หยด มากที่สุด คงเป็นคำว่า “แตะ โหยด” ที่มีความหมายว่า ยัก (เอว) โดย อ.องค์ ได้ย้ำอีกครั้งว่า เท่าที่เกิดมา รวมถึงความรู้เท่าที่ตนมี คำว่า ธี่หยด ไม่ใช่ภาษามอญครับ
การลากเข้าความ คือ การเปลี่ยนแปลงเสียงคำภาษาต่างประเทศ คำโบราณ หรือภาษาถิ่น ซึ่งผู้ใช้ภาษาไม่รู้ความหมายให้เป็นคำที่ตนรู้จัก ตัวอย่างจากกรณีคนไทยฟังเพลงต่างชาติแล้วนำมาร้องออกเสียงเป็นอีกแบบ เช่น เพลงท่อน “high all the time” จากเพลง Habits (Stay High) ศิลปิน Tove Lo คนไทยก็ออกเสียงเป็น “ต่าย อรทัย” หรือเพลง “มุกุงฮวาโกชี พีออตซึมนีดา” จากซีรีส์ Squid Game คนไทยก็นำมาออกเสียงว่า “โกโกวา…” เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นพอจะสันนิษฐานได้ว่า ต้นกำเนิดของคำว่า ธี่หยด ไม่ได้มาจากภาษามอญโบราณ อาจเป็นคำคำหนึ่งที่ได้ยินเพี้ยนต่อ ๆ กันมาจากการฟังเรื่องเล่าที่ผ่านเวลามาแล้วถึง 50 ปี เป็นเพียงการลากเข้าความให้คำนี้เป็นภาษามอญ อาจเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นชายแดนติดกับเมียนมาที่มีการติดต่อกับชาวมอญมาเนิ่นนานนับร้อย ๆ ปี
รับชมตำนานความสยองขวัญที่สร้างจากเรื่องจริงกับภาพยนตร์ ธี่หยด เตรียมขนหัวลุกกับเสียงในตำนาน 26 ตุลาคม 2566 ทุกโรงภาพยนตร์