ปิดตำนาน “ตำรวจรถไฟ” ยุติการทำงาน 17 ต.ค. 66 หลังรับใช้ประชาชนนาน 72 ปี

ยุติหน้าที่ “ตำรวจรถไฟ” 17 ตุลาคมนี้ เพื่อเดินหน้าการปรับโครงสร้างตำรวจ ปิดตำนานตำรวจผู้พิทักษ์บนชานชาลา ที่ยาวนานกว่า 72 ปี
ทำเอาหลายคนใจหาย เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ตำรวจรถไฟ” จะถูกยุบเลิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 หลังคอยดูแลสอดส่องความเรียบร้อย ตลอดจนให้บริการประชาชนนานหลายสิบปี โดยทางเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมากล่าวถึงการยุบตำรวจรถไฟ ดังนี้
“🚂🚨บันทึก 72 ปี “ตำรวจรถไฟ” พิทักษ์รับใช้ดูแลพี่น้องประชาชนบนชานชาลา คุ้มครองป้องภัยทุกขบวนรถไฟ ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ “ตำรวจรถไฟ” จะยุติปฏิบัติหน้าที่
การยุบเลิก “ตำรวจรถไฟ” เป็นไปตามแนวทางการปรับโครงสร้างตำรวจ ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
“ตำรวจรถไฟ” ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5 ) ในชื่อ “กองตระเวนรักษาทางรถไฟ”
ต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็น “กองตำรวจรถไฟ” จนได้รับการเลื่อนสถานะเป็น “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” มีสถานีตำรวจรถไฟตั้งอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ สถานีตำรวจรถไฟมักกะสัน สถานีตำรวจรถไฟหัวหิน สถานีตำรวจรถไฟหาดใหญ่ สถานีตำรวจรถไฟหนองคาย ฯลฯ
กองบังคับการตำรวจรถไฟ ทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟฯ อยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
เมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีผลให้กองบังคับการตำรวจรถไฟจะถูกยุบเลิก โดยข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจรถไฟจะได้รับการแต่งตั้งแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
ระหว่างนี้จะมีการจัดกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยบนขบวนรถไฟ และชานชาลา เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ตำรวจรถไฟขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน และทุกภาคส่วน สำหรับมิตรไมตรี และความร่วมมืออันดีตลอด 72 ปี”