รู้จัก 5 โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมแนะวิธีป้องกันจากกรมควบคุมโรค
รวม 5 โรคยอดฮิต ที่มาพร้อมกับฤดูฝน พร้อมอาการของแต่ละโรค แนะนำวิธีป้องกันโรคร้าย เพื่อการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในฤดูแห่งความชุ่มฉ่ำ
เดือนตุลาคมเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอาการเปลี่ยนแปลงบ่อยมีความชื้นสูง ส่งผลให้ผู้คนล้มป่วยจากโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับหน้าฝนเป็นจำนวนมาก ทั้งโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะจากบริเวณน้ำขัง การติดเชื้อผ่านการสัมผัสน้ำสกปรกผ่านผิวหนัง และละอองไวรัสที่กระจายอยู่บนอากาศ ปะปนอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน จนอาจเสี่ยงติดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารและระบบหายใจได้อีกด้วย
รวม 5 โรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน
แนะโรคยอดฮิตที่มากับสายฝนที่ต้องระวัง พร้อมวิธีป้องกัน ดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ โดยกรมควบคุมโรคได้ประกาศ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย โรคระบบทางเดินอาหาร, โรคที่มียุงเป็นพาหะ, โรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือผิวหนัง, โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคตาแดง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลุ่มโรคจากระบบทางเดินอาหาร
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าฝนในกลุ่มโรคจากระบบทางเดินอาหาร คือโรคอุจจาระร่วงฉับพลัน เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียภายในอาหารและน้ำ รวมถึงไม่ได้ล้างมือก่อนกินอาหารหรือสัมผัสร่างกาย ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายไม่หยุด อาเจียนอย่างรุนแรง บางรายอาจหนักถึงขั้นขาดน้ำและหมดสติได้
วิธีป้องกันโรค
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ
- ใช้ช้อนกลาง
- ใช้ภาชนะใส่อาหารและน้ำที่สะอาด
- หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าฝนในกลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ คือโรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ก็คือ ระยะแรก ระยะวิกฤต และระยะฟื้นตัว โดยโรคนี้มีการติดต่อได้ง่ายในช่วงหน้าฝน เนื่องจากยุงลายสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่ายจากแหล่งที่น้ำขัง หากไม่รักษาอย่างทันท่วงที อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงอย่างต่อเนื่อง ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการซึม เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
วิธีป้องกันโรค
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน โดยเฉพาะแหล่งน้ำขัง
- ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงเข้าใกล้ เช่น สวมเสื้อแขนยาว นอนในมุ้ง ทายากันยุง
กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าฝนในกลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง คือโรคแลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู เกิดจากการที่ติดเชื้อแบคทีเรียจากปัสสาวะของสัตว์พาหะ เช่น หนู สุนัข สุกร เป็นต้น ที่มักปนเปื้อนในแหล่งน้ำขัง รวมถึงเศษเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ โดยติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่เกิดแผลหรือรอยขีดข่วน ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ต้องลุยน้ำขังหรือแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานาน ๆ
ผู้ป่วยมักมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง หลัง ต้นคอ และโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง
วิธีป้องกันโรค
- หลีกเลี่ยงการลุยน้ำขัง หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบูทก่อนทุกครั้ง
- ทำความสะอาดบริเวณรอบบ้านอย่างสม่ำเสมอ
- ล้างมือล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง
- ระวังไม่ให้บาดแผลสัมผัสกับน้ำสกปรก
กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าฝนในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อ Influenza virus มักระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถป่วยได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ซึ่งอาการค่อนข้างรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไอ เจ็บคอ
วิธีป้องกันโรค
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับวัคซีคป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น อาทิ หลอดน้ำ แก้วน้ำ เป็นต้น
กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าฝนในกลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง คือโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง เกิดจากการติดเชื้อ Adenovirus ที่อยู่ในน้ำสกปรกที่กระเด็นเข้าตา หรือมีการใช้มือที่ไม่สะอาด มีเชื้อแบคทีเรียขยี้ดวงตา รวมถึงการใช้ของร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดงก็ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ป่วยจะเกิดอาการคัน เคืองตา น้ำตาไหล เยื่อบุตาขาวแดง บวม เปลือกตาแดงหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้าง
วิธีป้องกันโรค
- หลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตา
- ทำความสะอาดที่พักเป็นประจำ
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดง
โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝนนั้น หากเรารู้จักวิธีดูแลป้องกัน รักษาสุขภาพให้ดี อีกทั้งรับประทนอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้มาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับรองว่าโรคร้ายเหล่านี้จะไม่มาย้ำกรายทุกคนอย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงฤดูแห่งความเปียกปอนนี้ทุกคนนะครับ
ที่มา : 1