คำแถลงนโยบาลรัฐบาล “เศรษฐา” ดาวน์โหลดเก็บไว้อ่านทีละบรรทัดที่นี่
ดาวน์โหลด คำแถลงนโยบาลรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐสภา 2566 วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 รายละเอียดมีอะไรบ้าง ไล่อ่านไปทีละบรรทัด ครบจบที่นี่ พร้อมดาวโหลดข้อมูลฉบับเต็ม
เปิดรายละเอียด คำแถลงนโยบาลรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐสภา 2566 วันนี้ หลังมีภารกิจแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายบริหารในวันนี้ โดยนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงไม่มีเรื่องให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ไม่มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่มีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ไม่มีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ส่วนสาระสำคัญของนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่แถลงต่อรัฐสภาเน้นเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท เรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยว เปิดให้มีฟรีวีซ่า ดึงนักท่องเที่ยวจากจีน รวมทั้งตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง เปิดประตูการส่งออกโดยหาตลาดใหม่ ทำให้ จีดีพี ขยายตัวได้ร้อยละ 5
แก้ปัญหา หนี้สินครัวเรือน ที่สูงถึงร้อยละ 90 ของจีดีพี ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่มีอยู่ถึงร้อยละ 40 ของหนี้ทั้งหมด การจัดสรรที่ทำกิน เปลี่ยนจาก ส.ค.1 เป็นโฉนด การเพิ่มมูลค่า ที่ ส.ป.ก.4-01 ให้นำไปต่อยอดเข้าถึงแหล่งทุน ยกระดับการประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
แต่ไม่มีนโยบายรับจำนำหรือประกันราคาพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด ขณะเดียวกันมีการบรรจุเอากัญชาเพื่อเศรษฐกิจ อยู่ในนโยบายรัฐบาลตามคำขอของ พรรคภูมิใจไทย และจะนำ กฎหมายกัญชา เข้าบรรจุในวาระของสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมสภาสมัยที่แล้วได้ตีตกไปแล้ว ซึ่ง ไม่ตรงกับตอนที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงไว้ว่าจะเอากัญชากลับเข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด
สำหรับรายละเอียดฉบับเต็ม คำแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐาทั้งหมด มีดังนี้
(ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย).
- คําแถลงนโยบาย ของ คณะรัฐมนตรี
- นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
- แถลงต่อรัฐสภา
- วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้กระผมดํารงตําแหน่ง นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ และแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ นั้น บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความสอดคล้องกับหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ และหมวด ๕ แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑-๒๕๕๐ เรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนําไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศ ให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
“วันนี้” ประเทศไทยกําลังเผชิญกับความท้าทายที่สําคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ ซึ่งถูกซ้ําเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา ๒o๑๘ (โควิด-๑๙) ที่ทําให้กลายเป็นภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ที่แม้แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังคงยืดเยื้อ ฝังรากลึก และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
เศรษฐกิจของประเทศไทยกว่าร้อยละ ๓๐.๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ในภาคอุตสาหกรรม และมีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ในปัจจุบันภาคการส่งออก มีมูลค่าติดลบติดต่อกัน ๓ ไตรมาส และยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายใน ที่เน้นการรับจ้างผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นต้นถึงขั้นกลางที่ล้าสมัย ซึ่งกําลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า และอ่อนไหวต่อการมาถึงของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Technology Disruption) รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกิดจากสภาวะการแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจ ของประเทศคู่ค้าทั่วโลก
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดได้สร้างความท้าทายให้กับความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ และได้กลายเป็นตัวกําหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องกําหนด ทิศทางในการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็น เพื่อสร้างประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ
เศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ยุคสมัยของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ กําลังสิ้นสุดลงและได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว ซึ่งจะเป็นความท้าทายใหม่ ของการเปิดเสรีทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนที่ประเทศไทยได้เคยพึ่งพาปัจจัยเหล่านี้มาในอดีต
ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศของชาติมหาอํานาจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เป็นโจทย์ท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องกําหนดบทบาทและวางตัวอย่างเหมาะสม ในเวทีโลก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ส่งเสริมสันติภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย
ประเทศไทยกําลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ ๙๐ ของ GDP ถือเป็นความเปราะบางของภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนระดับ ของหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่าร้อยละ ๖๑ ซึ่งมีแนวโน้มที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนอาจจะกลายเป็น ข้อจํากัดทางด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต และโดยเฉพาะเมื่อประเทศไทย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังอยู่ต่ํากว่าศักยภาพที่แท้จริง สะท้อนให้เห็นว่า ศักยภาพในการสร้างรายได้ยังต่ํากว่าการใช้จ่าย ทําให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ํา ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนมีประชาชนที่มีรายได้ต่ํากว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า ๑๔ ล้านคน
อีกด้านหนึ่งของระบบเศรษฐกิจคือภาคการเกษตร ประชากรจํานวนไม่น้อย ของประเทศไทยกว่า ๑๐ ล้านคน หรือราว ๑ ใน ๓ ของกําลังแรงงาน อยู่ในภาคนี้ที่ทํางานหนัก เพื่อเลี้ยงชีพ แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ ๗ ต่อ GDP ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบการทําการเกษตรที่ยังคงพึ่งพาวัฏจักรธรรมชาติและมีประสิทธิภาพของผลผลิตต่ํา แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ย ครัวเรือนละกว่า ๓ แสนบาท
ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย จํานวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน
ด้านสังคม ประเทศไทยกําลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของจํานวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพ ทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทํางาน และมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น
สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มากขึ้นเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข ขณะที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทน กลายเป็นความท้าทายจากการที่จํานวนเด็กเกิดใหมในแต่ละปีมีจํานวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากความท้าทายเชิงปริมาณแล้ว การศึกษาของประเทศไทยยังมีความท้าทาย เชิงคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ไม่สามารถหางานทําที่ตรงกับสายงานหรือจําเป็นต้องทํางาน ในสายงานที่มีรายได้ต่ากว่าความสามารถทางวิชาชีพ
ด้านการเมือง ประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ที่ความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด การไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ทําให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล
ข้อกฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองกลายเป็นต้นเหตุของอุปสรรค
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สินบน อาชญากรรม การหลอกลวงฉ้อฉล การพนัน และยาเสพติด ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความสิ้นหวังของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองและระบบราชการของประเทศไทย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและความยากลําบากให้กับสังคมไทย ทําให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโต ได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน และกลายมาเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า ให้กับคนไทยทุกคนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการดาเนินงานของประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดําริอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดําเนินชีวิต
เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่
กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจําเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกาย ให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว
กรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ํา และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-๒๙ ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้าจนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มา ของความจําเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง
นโยบายการเติมเงิน 90,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทําหน้าที่เป็นตัวจุดชนวน ที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นําไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
และที่สําคัญ การดําเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใส ให้กับกลไกการชําระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าวไปเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลมีนโยบายอีกหลากหลายประการที่สามารถทําได้โดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหา และช่วยเหลือประชาชนผ่านนโยบายดังต่อไปนี้
นโยบายแรก คือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสําหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดําเนินธุรกิจได้อีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทําให้ เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
นโยบายเร่งด่วนถัดมา คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสําคัญในการดํารงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการ ราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ํามันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสํารวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป
นโยบายที่สาม คือ รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจํานวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอ้านวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สําหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทํา Fast Track VISA สําหรับผู้เข้าร่วม งานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี
รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สําหรับการจัดงานแสดงต่าง ๆ ที่สําคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการ ที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ํา และทางอากาศ โดยจะปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนํานักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
และปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว
และนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไข ในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทําประชามติที่ให้ความสําคัญ กับการทําให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทํารัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุน ทําให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพ
มากที่สุดในการพัฒนาประเทศ
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
นอกจากการดําเนินนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะส่งผลกระทบระยะกลางและระยะยาว สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับประชาชนคนไทย ในหลายมิติด้วยกัน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิต และคืนศักดิ์ศรีของการเป็นคนไทย โดยการดําเนินนโยบายดังต่อไปนี้
รัฐบาลมีแนวทางที่จะสร้างรายได้ โดยการใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้า สู่ตลาดใหม่ ๆ ให้สินค้าและบริการของประเทศไทย อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศ ในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมถึงการให้ความสําคัญกับตลาดเดิมที่รวมถึง ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง โดยการออกไปพบผู้นําประเทศต่าง ๆ เพื่อชักชวนให้มาค้าขายสินค้า
และบริการของกันและกันซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าและบริการที่คิดและผลิตจากฝีมือของคนไทยมากขึ้น เร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และเจรจา เพื่อยกระดับหนังสือเดินทางไทย (Passport) ให้สามารถเดินทางได้หลายประเทศมากยิ่งขึ้น โดยไม่จําเป็นต้องขอวีซ่า ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุนที่จะช่วยเพิ่มความสามารถทางการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า และวางรากฐานให้เศรษฐกิจในระยะยาว
รัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจทั้ง ๔ ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และเมือง ให้เป็นไปตามผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในประเทศ รัฐบาลจะจัดทํา Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพ ให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก สร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจใหม่ และรัฐบาลจะสนับสนุน ตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะดําเนินการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ถูกกฎหมาย ตามแนวชายแดน เพื่อสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นการสนับสนุน เสถียรภาพให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ ตลอดจนการเป็นผู้นําในการส่งเสริม สันติภาพและผลประโยชน์ร่วมกันของโลก และบริหารสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ
อย่างเหมาะสม
รัฐบาลจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศทั้งทางถนน ทางน้ํา ทางราง และทางอากาศ เพื่อเปิดประตูค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ของประเทศและของประชาชน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก
สําหรับประชาชนในภาคการเกษตร รัฐบาลจะสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลักการ ตลาดน้ํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพของภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน จะมีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ํา ให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ําในแต่ละพื้นที่ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตร
ด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยํา (Precision Farming) การวิจัย พัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคา ที่เหมาะสม สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเศรษฐกิจ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลจะฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สําคัญของประชาชนอีกครั้งด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน
การบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้านตั้งแต่ดิน น้ํา พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กลไกราคา แหล่งเงินทุน นวัตกรรม และกรรมสิทธิ์ที่ดินของเกษตรกรผู้ปลูกพืช ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และกลุ่มประมง มีเป้าหมายทําให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสําคัญภายในระยะเวลา 4 ปี
การสร้างรายได้ผ่านนโยบายข้างต้น จะเป็นปัจจัยสําคัญในการสร้างชีวิตของคนไทย ให้มีเกียรติ มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ําที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัย ด้านการดําารงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสามารถทําให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงระบบสวัสดิการที่เหมาะสม
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
นอกเหนือไปจากรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพแล้ว รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชนผ่านการดําเนินนโยบาย ดังต่อไปนี้
นโยบายแรก คือ การให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เพื่อสร้างโอกาส ในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยรัฐบาลจะเร่งดําเนินการให้ประชาชนมีสิทธิ ในทีดิน มีชีวิตที่มั่นคง พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนําไปต่อยอด ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ นํามาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมแนวทางที่สร้างรายได้จากผืนดินและส่งเสริม สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยกําหนดให้มีสัดส่วนการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภท และลักษณะของพื้นที่ และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูน ของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล
นโยบายถัดไป คือ การเปลี่ยนบทบาทของรัฐที่เคยเป็นผู้กํากับดูแลที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ให้เป็นผู้สนับสนุนที่ปลดล็อคข้อจํากัดของประชาชน สร้างโอกาส
ให้กับประชาชนในการสร้างรายได้และเจริญเติบโต อาทิ การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จําเป็น เช่น การปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน เป็นต้น
รัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอํานาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้าง ประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนอง ต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ จะมีการเปิดให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการกําาหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อสร้างโอกาสและสร้างประโยชน์ให้ประชาชน เป็นสําคัญ สนับสนุนการจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด โดยรัฐบาล จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทํางานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ทําให้ประชาชน ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณและการเลือกตัวแทนของผู้บริหารที่จะเป็นตัวแทนการพัฒนาท้องถิ่น บ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรและกระจายอํานาจการบริหารจัดการไปสู่ชุมชน
อีกนโยบายหนึ่ง คือ การเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่เข้ามาทํางานสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคล และแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าว ยังมีความจําเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน
ของประเทศ
รัฐบาลนี้ยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนํามาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างงาน สร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม ๑ ครอบครัว ๑ ทักษะ Soft Power ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนา ด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ ที่นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชนแล้ว ยังสามารถ พัฒนาเป็นอาชีพทั้งในบทบาทที่เป็นนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และผู้มีวิชาชีพด้านการสนับสนุนของวงการกีฬา ที่สามารถสร้างรายได้ โดยเฉพาะกีฬาที่เป็นที่นิยมในระดับสากล
ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดําเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคม แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพ ของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอํานาจการศึกษาให้ผู้เรียน ได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบ เทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทําหลักสูตรและให้คําแนะนําที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจ ของผู้เรียน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
รัฐบาลจะให้ความสําคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคําแนะนําด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ ของนักเรียนทุกคน นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อสร้างบุคลากร ที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน และที่สําคัญที่สุด รัฐบาลจะดําเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ําทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสําคัญของความเหลื่อมล้ํา ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
นอกเหนือจากการสร้างรายได้และโอกาสแล้ว รัฐบาลจะดําเนินนโยบาย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นําความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนําความภาคภูมิใจ มาสู่ประชาชนไทยทุกคน
คุณภาพชีวิตที่ดีข้อที่หนึ่ง คือ การมีความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้อง กับสภาวะของโลก รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคง ให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ และเป็นกลไกสําคัญในการพิทักษ์เอกราช สร้างความมั่นคง และความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามและภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาศักยภาพ ของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย
- จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
- ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์
- ลดกําลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกําหนดอัตรากําลังในกองอํานวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบัน และอนาคตของประเทศ
- ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคาม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- นําพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจําเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข้มแข็งด้านสังคมของประเทศ
ด้านความปลอดภัย รัฐบาลจะทํางานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อดําเนินการ ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบําบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อเพิ่มจํานวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับเข้าสู่สังคมและพัฒนาความสามารถให้เข้าสู่ ภาคแรงงาน ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยใช้มาตรการ ปราบปรามทางกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการ “ยึดทรัพย์” เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด พร้อมดําเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนํายาเสพติด เข้ามาในประเทศไทย และดึงประชาชนออกจากวงจรการค้ายาเสพติดอย่างถาวร นอกจากนี้ รัฐบาลจะนําเนินแนวทางนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ
คุณภาพชีวิต อันดับที่สอง คือ ชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสําหรับทุกคน รัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่สําคัญในการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ําคืนสู่ธรรมชาติ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะเพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนไทย พร้อมทั้งวางแผน รับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กําลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
รัฐบาลจะแก้ปัญหา ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวก และทางลบในภาคเกษตรกรรม ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินผลและติดตามการบังคับใช้ กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
คุณภาพชีวิต อันดับที่สาม คือ การสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศในระยะยาว
เราจะยกระดับ “นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยบริการพื้นฐานใกล้บ้าน อาทิ การนัดพบแพทย์ การตรวจเลือด และการรับยา ประชาชนไม่ต้องนําบากเดินทางไกล เข้าไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัด และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ส่งเสริมกลไก สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค อาทิ วัคซีนปากมดลูก ในเด็กและสตรี มีสถานส่งเสริมสุขภาพ สถานชีวาภิบาลประจําท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
และที่สําคัญที่สุด การบริการสาธารณสุขจะสามารถเข้าถึงได้ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย และรัฐบาลจะมุ่งเน้นการสร้างระบบสาธารณูปโภค ให้เกิดสุขภาวะอนามัยที่ดีผ่านการพัฒนาระบบน้ําประปาเพื่อให้ประชาชนมีน้ําสะอาดสําหรับการอุปโภค และบริโภคอย่างทั่วถึง
และคุณภาพชีวิตประการสุดท้าย รัฐบาลให้ความสําคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วย “สวัสดิการโดยรัฐ”
รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงจะใช้กลไกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อเปิดโอกาสให้สตรีในชุมชน เข้าถึงแหล่งเงินทุนสําหรับสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมีชีวิตที่มั่นคง และจะสนับสนุนให้มีความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ให้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้หลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อให้สันติภาพเป็นพื้นฐาน
ของการพัฒนาประเทศต่อไป
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยข้อมูลที่แม่นยําและทันสมัย เป็นรัฐบาลที่จะนําเอาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล รวมทั้งคลื่นความถี่ และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมมาใช้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน มีการศึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
พร้อมทั้งให้ความสําคัญ กับการป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติและการเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการให้ความรู้เท่าทันสื่อ และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ก้าวทันโลก ก้าวทันอนาคตในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนมุ่งเน้นการบริหารประเทศในรูปแบบบูรณาการการทํางาน ระหว่างหน่วยงานให้ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาประเทศระยะยาว
หลากหลายนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไป จะเป็นการบริหารเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น สําหรับประเทศและประชาชน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะไม่ละทิ้งหน้าที่พื้นฐานที่ต้องทํางาน ร่วมกับประชาชน อาทิ
การสร้างความเป็นธรรมในการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิของประชาชน และสิทธิผู้บริโภค การป้องกันและขจัดการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วม การส่งเสริมให้ประชาชน เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และรัฐบาลจะเป็นกําลังหลักพร้อมกับภาคประชาชน ภาคเอกชน และส่วนราชการในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม
รัฐบาลจะส่งเสริมการเปิดกว้างและเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ความเชื่อ และทางความคิดจากผู้คนที่อยู่อาศัยเดิมอยู่แล้ว ผู้คนที่เดินทางเข้ามาทํางาน ท่องเที่ยว หรือย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัย ผู้คนที่มาจากวัฒนธรรมมีขนบธรรมเนียมประเพณีหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้คนที่มีความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ
ให้เข้ามาเป็นส่วนสําคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกัน และทําให้ประเทศไทยเป็นบ้านที่ทําให้ทุกคน รู้สึกปลอดภัย สบายกาย สบายใจ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างบทบาทในเวทีโลก ให้ความสําคัญกับการดําเนินความสัมพันธ์ ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ อย่างสมดุล ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสําคัญ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนําของประเทศไทยในภูมิภาค และอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทย
รัฐบาลจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รัฐบาลจะมุ่งลดความเหลื่อมล้ําในสังคมไทย การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสําหรับทุกคน อาทิ ความปลอดภัยทางถนน การลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ควบคู่กับการสร้างสันติภาพและการปกป้องสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นําของอาเซียน ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเปิดประตูบานใหญ่ สู่การค้าโลก ซึ่งเป็นโอกาสสําคัญของประเทศไทยและสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการ ในประเทศ ทําให้รัฐบาลสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสําคัญ
ต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลจะใช้การพัฒนา ที่ยั่งยืนเป็นพลังสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและภาคการเงิน
รัฐบาลจะธํารงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาประเทศให้ทันสมัย และสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพทัดเทียมประเทศอื่น เพื่อให้ลูกหลานของเราสามารถแข่งขัน กับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจใหม่ สังคมใหม่ และการเมืองใหม่ ที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ลูกหลานรุ่นถัดไปจะใช้ชีวิตในอนาคต
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
หากมองอนาคต สี่ปีข้างหน้าจะเป็นสี่ปีที่รัฐบาลจะวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศโดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะดําเนินงานให้ประสบผลสําเร็จและเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใสและตรวจสอบได้ สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณี การดําเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสําคัญ กับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดําเนินนโยบายนั้น รัฐบาลจะดําเนินการอย่างมีเป้าหมาย ทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ํา และการรักษาเสถียรภาพ ให้ความสําคัญ กับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด และให้ความสําคัญกับเสถียรภาพ ทางการเงินการคลังของประเทศในด้านการใช้จ่าย รัฐบาลจะดําเนินการใช้จ่ายให้เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ
ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดําเนินนโยบายเพื่อลดภาระการลงทุน จากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน ขณะเดียวกันรัฐบาลตระหนักถึงข้อจํากัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีของประเทศ รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับ การเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกลับเข้าสู่ระบบภาษี ที่จะนําไปใช้ในการดาเนินนโยบายต่อไปได้
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ท้ายที่สุด รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาและประชาชนไทยว่า รัฐบาลจะบริหาร ราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทสรรพกําลังในการที่จะดําเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน
และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษา สภาพแวดล้อม เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของผมและรัฐบาลในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเรานับจากนี้เป็นต้นไป ขอบคุณครับ.
- รายชื่อ 31 สส.ก้าวไกล ชำแหละเดือดนโยบายรัฐบาลเศรษฐา1
- เริ่มแล้ว! เศรษฐา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
- เศรษฐา แสดงความเสียใจ เหตุแผ่นดินไหวโมร็อกโก