ไขข้อข้องใจ “บล็อกเชน” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับการทำธุรกรรม เปิดเหตุผลหลักที่เพื่อไทยเลือกใช้ Blockchain ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ในปัจจุบันโลกเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าขึ้นมาก ซึ่งนวัตกรรมที่มาแรงสุด ๆ ก็คือ บล็อกเชน (Blockchain) ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินง่ายและสามารถตรวจสอบได้ แม้จะไม่มีธนาคารเป็นตัวกลางก็ตาม แต่หลายคนก็ยังคงสงสัยว่า จริง ๆ แล้วบล็อกเชนทำงานยังไงกันแน่ และจะปลอดภัยต่อการทำธุรกรรมจริงหรือไม่? หลังรัฐบาลไทยภายใต้แกนนำพรรคเพื่อไทย เตรียมแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท ใครอยากรู้ต้องไปอ่านพร้อมกัน
วิธีการทำงานของ “บล็อกเชน” จุดเปลี่ยนทางธุรกรรม
บล็อกเชน (Blockchain) คือ เทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Database) ที่บันทึกข้อมูลเป็นบล็อกต่อกันเป็นลำดับแบบโซ่ (Chain) โดยข้อมูลในแต่ละบล็อกจะเชื่อมโยงถึงกันด้วยข้อมูลแฮช (Hash) ทำให้ข้อมูลในบล็อกเชนมีความโปร่งใส ไม่สามารถปลอมแปลงหรือแก้ไขได้
การทำงานของบล็อกเชน
บล็อกเชนจะทำงานโดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network) ขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจะทำหน้าที่บันทึกและตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ทำให้ข้อมูลในบล็อกเชนมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย โดยขั้นตอนการทำงานของบล็อกเชน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1. การบันทึกข้อมูล
ข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกบันทึกเป็นบล็อก โดยบล็อกแต่ละบล็อกจะประกอบด้วยข้อมูลต่าง ๆ เช่น เวลา ข้อมูลการทำธุรกรรม และข้อมูลแฮชของบล็อกก่อนหน้า
2. การยืนยันความถูกต้อง
คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในบล็อก โดยจะใช้อัลกอริธึมการพิสูจน์ตัวตนแบบกระจายศูนย์ (Distributed Consensus Algorithm) เช่น Proof of Work (PoW) หรือ Proof of Stake (PoS)
3. การเชื่อมโยงบล็อก
เมื่อข้อมูลในบล็อกได้รับการยืนยันความถูกต้องแล้ว บล็อกนั้นจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับบล็อกก่อนหน้าด้วยข้อมูลแฮช ทำให้ข้อมูลในบล็อกเชนมีความต่อเนื่องและไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนบล็อกใหม่ ๆ จะถูกสร้างขึ้นตามลำดับเวลานั้น ๆ
เช่น บล็อกของ Bitcoin ที่จะเกิดใหม่ในทุก 10 นาที ซึ่งแต่ละบล็อกจะมีตัวระบุเฉพาะ (แฮช) ของบล็อกก่อนหน้า ทำให้เกิดห่วงโซ่ของบล็อก จึงเป็นที่มาของคำว่า “บล็อกเชน”
4. การแบ่งปันบัญชีแยกประเภท
คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจะแบ่งปันบัญชีแยกประเภท (Ledger) ซึ่งเป็นบันทึกของข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมด ทำให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา
ข้อดีของการทำธุรกรรมบน Blockchain
อย่างที่ทราบกันว่า การทำงานของบล็อกเชนจะมีการบันทึกข้อมูลในแฮชตามบล็อกต่าง ๆ อย่างชัดเจน และไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ซึ่งเมื่อเชื่อมต่อกันเป็นทอด ๆ จะเกิดเป็นระบบ ทำให้บล็อกเชนมีประโยชน์ต่อการทำธุรกรรม ดังนี้
1. ความเร็ว : การโอนเงินระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมอาจใช้เวลาหลายวัน เนื่องจากมีธนาคารตัวกลางและกระบวนการทำงานระหว่างธนาคารมีความซับซ้อน ในขณะที่การทำธุรกรรมบล็อกเชนจะเร็วกว่า โดยเฉพาะการโอนเงินข้ามพรมแดน เพราะสามารถทำได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
2. ความคุ้มค่า : ธุรกรรมบล็อกเชนมีราคาถูกกว่าธุรกรรมดั้งเดิมในอดีต เนื่องจากจะไม่มีตัวกลาง เช่น ธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าธรรมเนียมลดลงและมีอัตราแลกเปลี่ยนดีขึ้นด้วย
3. ความปลอดภัย : ธุรกรรมบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีการเข้ารหัสเอาไว้ เมื่อธุรกรรมถูกบันทึกบนบล็อกเชน ธุรกรรมนั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการฉ้อโกง หรือการปลอมแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ความโปร่งใส : ทุกธุรกรรมบนบล็อกเชนจะถูกบันทึกไว้ในบัญชีแยกประเภทสาธารณะที่ใคร ๆ ก็สามารถดูได้
5. ทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา : บล็อกเชนทำงานตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวัน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา ไม่เว้นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
6. ลดข้อผิดพลาด : วิธีการเชื่อมต่อในระบบของบล็อกเชน ช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงน้อยหากเทียบกับการทำงานของมนุษย์
7. ง่ายต่อการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน : Blockchain มีการทำงานที่ไร้ขอบเขต ทำให้เหมาะสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือแปลงสกุลเงินต่าง ๆ ด้วยค่าธรรมเนียมราคาถูก
8. เข้าถึงได้ทุกคน : บล็อกเชนสามารถช่วยนำบริการทางการเงิน มาสู่ประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารได้
9. ความเป็นส่วนตัว : แม้ว่าธุรกรรมบล็อกเชนจะโปร่งใส แต่ก็มีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากชื่อผู้ใช้จะปรากฏเป็นชื่อกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่ชื่อในชีวิตจริง
10. ความเป็นเจ้าของที่สามารถควบคุมได้ : ผู้ใช้สามารถควบคุมเงินทุนของตนในกระเป๋าเงินบล็อกเชนได้โดยตรง ต่างจากบัญชีธนาคารแบบเดิม ซึ่งธนาคารมักจะควบคุมการเข้าถึงเงินของเรา
เพื่อไทยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านบล็อกเชน
ประเทศไทยเองก็จัดเป็นหนึ่งในประเทศหัวก้าวหน้า ที่กำลังจะนำนวัตกรรมสมัยใหม่ อย่างการทำงานของระบบบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งนำร่องโดยนโยบายจากพรรคเพื่อไทยที่เตรียมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
พรรคเพื่อไทยได้ให้เหตุผลที่จะนำระบบบล็อกเชน มาใช้กับการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทว่า บล็อกเชนมีความปลอดภัยสูงสุด และสูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ว่าใครคือผู้รับ และใครคือผู้จ่าย ทั้งยังเป็นระบบที่มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมอีกด้วย
สำหรับใครที่รอรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะดำเนินการผ่านระบบบล็อกเชน ให้รอติดตามข่าวสารเรื่องวิธีการรับเงินได้ เร็ว ๆ นี้.