ไลฟ์สไตล์

วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2566 ร่วมตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทย

ชวนอ่านประวัติ ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ 29 กรกฎาคม ของทุกปี หนึ่งในวันที่คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันนี้ Thaiger จะพาทุกคนมาทำความรู้จักถึงประวัติความเป็นมาของภาษาไทยให้มากขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นว่าภาษาไทยมีความสำคัญต่อชาวไทยทุกคนอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลย

ประวัติ วันภาษาไทยแห่งชาติ

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย ทำให้ผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นประทับใจ พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรราา 6 รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มติลงความเห็นให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติวันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ ทำไมจึงเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม

เนื่องจากวันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ ปัญหาการใช้คำไทย

นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทยย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว และในโอกาสต่อ ๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์

วันภาษาไทยแห่งชาติ ทำไมถึงเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม
ภาพจาก : กรมศิลปากร

วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ

  • เฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงห่วงใยในภาษาไทย ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ ในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทย
  • ปลูกฝังให้คนไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป
  • ยกระดับมาตรฐานการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับชั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
  • เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงการวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
  • เปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาประจำชาติ รวมถึงเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ มีอะไรบ้าง

กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ 2566

สำหรับกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ทางสถาบันศึกษาจะมีการจัดกิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เช่น จัดนิทรรศการที่เกี่ยวกับภาษาไทย เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งคำขวัญ ประพันธ์ร้อยแก้ว-ร้อยกรอง และประกวดเรียงความในวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นต้น

สำหรับการจัดงานประจำปี 2566 กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยจัดกรรมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการมอบรางวัลปุชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวไทย ผู้ใข้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย การมอบรางวัลเพชรในเพลง การประกวดหรือแข่งขันทักษะทางภาษาไทย การเผยแพร่วิดีทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของสถานเอกอัคราชทูตประจำประเทศไทย

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมเผยแพร่หนังสือหายาก “ปกีรณำพจนาดถ์และอนันตวิภาค” เพื่อยกย่องปูชนียบุคคล-ทูต-ประกาดเพชนในเพลง-แรป “มนต์รักษ์ภาษาไทย” เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หนุนเด็ก เยาวชน ประชาชนอนุรักษ์ภาษาไทยประจำชาติไทยอย่างยั่งยืน

กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ 2566
ภาพจาก Facebook Page : กระทรวงวัฒนธรรม

ตอบข้อสงสัย วันสุนทรภู่ และ วันภาษาไทยแห่งชาติ ต่างกันอย่างไร

เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่า วันสุนทรภู่ และวันภาษาไทยแห่งชาติ มีความแตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อทั้งสองวันดังกล่าว ถือเป็นวันที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาไทยกันทั้งคู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้งสองวันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เนื่องจากวันสุนทรภู่ เป็นวันที่รำลึกถึงกวีเอกของประเทศไทย จึงมีการจัดกิจกรรมแต่งคำประพันธ์ เพื่อสืบทอดบทกลอนให้ยังคงอยู่ต่อไปถึงลูกหลาน

ในส่วนของวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย เพื่อให้เราอนุรักษ์ภาษาประจำชาติไทยให้มากขึ้น โดยในทุก ๆ ปีจะมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา เล่านิทาน

ถึงแม้ว่ารูปแบบการจัดกิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติและวันสุนทรภู่ จะมีความคล้ายคลึงกัน และมีจุดประสงค์เดียวกันคือการสร้างความตระหนักรู้ถึงภาษาไทย และอนุรักษ์ให้ภาษาประจำชาติของเรายังคงอยู่ต่อไปสืบทอดถึงลูกหลาน แต่ประวัติความเป็นมานั้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

วันภาษาไทยแห่งชาติ กับวันสุนทรภู่ ต่างกันอย่างไร

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button