สรุปเหตุการณ์ เรือดำน้ำไททันหาย ขณะพาชมซากไททานิค เร่งค้นหา 5 ชีวิต
สรุปเหตุการณ์ เรือดำน้ำไททันหาย พร้อมผู้โดยสาร 5 ชีวิต ขณะกำลังท่องน้ำลึกชมซากไททานิค กลางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
นับเป็นข่าวช็อกโลกทีเดียว เมื่อมีการรายงานว่า เรือดำน้ำไททัน (Titan) ของ OceanGate Expeditions สูญหายกลางสายน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ขณะท่องทริปชมซากเรือไททานิค ซึ่งบนเรือมีผู้โดยสารมากถึง 5 ราย พร้อมหน้าไปด้วยเศรษฐี นักธุรกิจและทายาท ล่าสุดทางการเร่งปฏิบัติการค้นหา ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย วันนี้ไทยเกอร์จึงถือโอกาส พาทุกท่านไปอ่านด้วยกันว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำไททันกันแน่
สรุป เรือดำน้ำไททันสูญหาย หลังพานักท่องเที่ยวชมไททานิค
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2023 เรือดำน้ำไททัน ซึ่งเป็นเรือดำน้ำที่ดำเนินการโดยบริษัท OceanGate Expeditions ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนอกชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ในแคนาดา โดยเรือดำน้ำลำนี้ได้ถูกออกแบบมาให้บรรทุกคนได้ 5 คน และกำลังอยู่ในระหว่างพานักท่องเที่ยวชมซากเรือไททานิค (Titanic)
เรือดำน้ำไททันเป็นเรือขนาด 5 คน ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์และไททาเนียม โดยได้ถูกออกแบบให้ดำน้ำได้ลึกถึง 4 กม. (13,000 ฟุต) เพื่อทำงานด้านการสำรวจ ตรวจสอบ วิจัย และรวบรวมข้อมูล ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสื่อภาพยนตร์ ทั้งยังถูกใช้ในการทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในทะเลลึกอีกด้วย
ด้านบริษัทเจ้าของไททันได้เปิดเผยว่า เรือดำน้ำนี้มีระบบที่ชื่อว่า Real Time Hull Health Monitoring (RTM) ที่จะสามารถประเมินความสมบูรณ์ของตัวถังตลอดการดำน้ำทุกครั้ง อีกทั้งในเรือดำน้ำยังมีชูชีพเพื่อรองรับลูกเรือ 5 คนเป็นเวลา 96 ชั่วโมง ด้านสื่อต่างประเทศรายงาน ในเรือมีออกซิเจนเพียงพอสำหรับ 4 วัน แต่ไม่มีวิธีเปิดประตูเรือจากด้านใน เพราะมีเกลียวสลักไว้ที่ด้านนอกเท่านั้น
ในการดำน้ำแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วย คนควบคุม ผู้โดยสารที่ชำระเงิน 3 คน และผู้เชี่ยวชาญ 1 คน โดยเรือดำน้ำไททันจะใช้เวลาจมลงใต้ผิวน้ำแล้วเดินทางไปหาไททานิคประมาณ 2 ชั่วโมง รวมเดินทางนาน 8 ชั่วโมง และจะต้องสื่อสารกับลูกเรือเหนือผิวน้ำทุก ๆ 15 นาที
เบื้องต้นพบว่าบริษัท OceanGate ตั้งใจให้มีการสำรวจเรือไททานิคหลายครั้งในปี 2566 แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในนิวฟันด์แลนด์ บริษัทจึงจัดให้มีการเดินทางเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งตั๋วมีราคา 250,000 ดอลลาร์ (195,000 ปอนด์) สำหรับการเดินทางแปดวัน มาพร้อมกับแพ็คเกจการดำน้ำไปยังซากเรือยักษ์ที่ความลึก 3,800 เมตร (12,500 ฟุต)
ทั้งนี้นักข่าวคนหนึ่งซึ่งเคยนั่งเรือดำน้ำไททันเมื่อปี 2022 ได้กล่าวว่า ทุกคนที่ขึ้นเรือ Titan ต้องลงนามโดยระบุว่าพวกเขารู้ว่ามันเป็น “เรือทดลอง” ที่ไม่ได้รับการอนุมัติหรือรับรองโดยหน่วยงานกำกับดูแลใด ๆ และ อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย ความพิการ การบาดเจ็บทางอารมณ์ หรือเสียชีวิตได้
การหายไปของเรือดำน้ำไททัน พร้อมผู้เดินทาง 5 ชีวิต
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน คณะสำรวจเรือไททานิคออกเดินทางจากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์ โดยขึ้นเรือสำรวจชื่อ MV Polar Prince ต่อมาในเช้าวันที่ 18 มิถุนายน คณะสำรวจจำนวน 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วย นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ, นักสำรวจ ฮามิช ฮาร์ดิง, นักธุรกิจชาวปากีสถาน และลูกชาย ได้เริ่มดำเนินการดำน้ำไปกับเรือไททัน
ทว่าหลังจากที่เรือดำลงไปใต้ผิวน้ำพักใหญ่ พวกเขาก็ได้ขาดการติดต่อไปประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที และมีรายงานว่าหายไปเกินกำหนดในเวลาประมาณ 21:13 น. อ้างอิงศูนย์ประสานงานกู้ภัยร่วมแฮลิแฟกซ์
ภายหลังได้มีการยืนยันว่า บนเรือประกอบไปด้วย Hamish Harding นักสำรวจ, Stockton Rush ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง OceanGate, Inc. และ Paul-Henry Nargeolet อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือฝรั่งเศส-สมาชิกของ IFREMER รวมไปถึง Shahzada Dawood นักธุรกิจชาวปากีสถาน และ Suleman ลูกชายของเขา
เบื้องต้นมีหลายข้อสันนิษฐานเกิดขึ้น โดยมีการคาดเดาว่าอุปกรณ์สื่อสาร ของไททันอาจล้มเหลว หมายความว่าพวกเขาไม่สามารถสื่อสารกับลูกเรือเหนือน้ำได้ แต่สามารถเดินเรือได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ยังอาจเป็นไปได้ว่า เรือดำน้ำอาจมีปัญหากับด้านระบบอับเฉา (น้ำที่ใช้รักษาเสถียรภาพของโครงสร้างเรือ) ซึ่งควบคุมการลงและขึ้นของเรือ และอาจเป็นไปได้ว่า เรือดำน้ำไททันติดอยู่กับชิ้นส่วนของซากปรักหักพักใต้น้ำ เลยไม่สามารถกลับขึ้นมาได้
ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเรือดำน้ำไททัน
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ทีมงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของหน่วยยามฝั่งสหรัฐซึ่งประจำอยู่ที่บอสตัน ได้เริ่มภารกิจค้นหาเรือดำน้ำและบุคคลทั้ง 5 คนที่อยู่บนเรือ ในระยะ 900 ไมล์ทะเล (1,700 กม.) นอกชายฝั่งเคปค้อด รัฐแมสซาชูเซตส์แล้ว โดยศูนย์ประสานงานกู้ภัยร่วม Halifax รายงานว่า เครื่องบิน Lockheed CP-140 Aurora ของกองทัพอากาศแคนาดา เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาด้วย
หน่วยยามฝั่งระบุว่าภารกิจค้นหาและกู้ภัยเป็นเรื่องยากเนื่องจากสถานที่ห่างไกล แต่พลเรือตรี Mauger ระบุว่า “เรากำลังปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด” แต่นอกเหนือจากความยากของสถานที่แล้ว ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยทั้งหมดยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ การขาดแสงในเวลากลางคืน ตลอดจนสภาพของน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำด้วย
เรือดำน้ำหลายลำได้ทำการติดตั้ง “อุปกรณ์เสียง ซึ่งเรียกว่า pinger โดยมันจะทำหน้าที่ส่งเสียงที่หน่วยกู้ภัยสามารถตรวจจับใต้น้ำได้” แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าบนไททันมีอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่
ขณะนี้การค้นหามีทั้งหมด 2 ส่วน คือ การค้นหาเหนือผิวน้ำและการค้นหาโซนาร์ใต้น้ำ ซึ่งได้มีการใช้เครื่องบิน C-130 Hercules 3 ลำ โดยสองลำมาจากสหรัฐอเมริกาและหนึ่งลำจากแคนาดา นอกจากนี้ยังมีเครื่องบิน P-8 ที่มาพร้อมกับความสามารถของโซนาร์เข้ามาช่วยเหลือด้วย
ขณะนี้ทั้งสองประเทศ ยังไม่มีเรือใต้น้ำที่สามารถช่วยเหลือในภารกิจค้นหาและวิจัยอย่างราบรื่นได้ โดยกองทัพเรือสหรัฐมียานกู้ภัยใต้น้ำอยู่หนึ่งลำ แต่มันไม่สามารถเข้าถึงความลึกที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้ ส่วนยานที่ควบคุมระยะไกล ก็อาจมีปัญหาในการไปถึงจุดเกิดเหตุให้ทันถ่วงทีเช่นกัน.