การเงิน

หนี้ครัวเรือน 2566 พุ่ง 15 ล้านล้านบาท หนี้รถยนตร์ คนทำงานผ่อนไหวแค่ไหน ? ไปดู

หนี้ครัวเรือน ประเทศไทย พุ่งทะลุ 15 ล้านล้านบาท หนี้รถยนต์พุ่งคนทำงานผ่อนไม่ไหว สภาพัฒน์ กังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูง พร้อมฟัง ธนาคารแห่งประเทศไทย Bank of Thailand เกาะติดความสามารถในการผ่อนชำระฟื้นตัวช้า

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2565 ยังอยู่ในระดับสูงมูลค่าแตะ 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% แต่เป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาส 3/2565 ซึ่งขยายตัว 4% ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 86.9 %

ขณะเดียวกันยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ สินเชื่อยานยนต์ที่พบว่ามูลหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 13.1% ไตรมาส 2/2565 เพิ่มเป็น 13.6 %ในไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 13.7 %ในไตรมาส 4 ปี 2565

ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สินเชื่อยานยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี หรือวัยทำงานที่มีปัญหาการชำระ ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังอยู่ในช่วงการสร้างเนื้อสร้างตัว

ขณะที่ สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 7.6% ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยายตัวค่อนข้างสูง และ หนี้เสียต่อบัญชีประมาณ 77,000 บาท ส่วนหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียขยายตัวขึ้นมาก ซึ่งอาจมีผลฉุดรั้งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ ที่เสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หนี้ครัวเรือนอาจเป็นระเบิดเวลาของสังคมไทย หากหนี้พุ่งขึ้นมากก็ยากต่อการทำให้ลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้น

สอดคล้องกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธปท.ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่รายได้ ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพี ยังทรงตัวจาก 87.0 % ในไตรมาสก่อน เป็น 86.9% ในไตรมาส 4/65

ส่วนภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยความสามารถในการทำกำไรปรับลดลง ทำให้ยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ ( NPL ) ไตรมาส 1/66 ลดลงมาอยู่ที่ 498,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.68%

ส่วนสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/66 ขยายตัว 0.51% ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และ Soft loans รวมทั้งการบริหารจัดการคุณภาพหนี้

โดยธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้ โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button