ทนายนิด้า แจงยิบ คดีช่างภาพข่มขืนนางงาม หลังศาลยกฟ้อง ยังสู้ต่อชั้นอุทธรณ์
ทนายนิด้า ชี้แจงละเอียด คดีดังช่างภาพข่มขืนนางงามผู้เข้าประกวดเวทีดัง หลังศาลยกฟ้อง สังคมมองคดีพลิก มือกฎหมายหญิงติดแฮชแท็ก #คดีข่มขืนนางงาม ร่ายยาวพลิกในความหมายของนิด้าคืออะไร มั่นใจคดีสู้กันถึงศาลฎีกา
จากกรณี นางงามผู้เข้าประกวดเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 และทีมงานกองประกวด แจ้งความเอาผิด “ช่างภาพหนุ่ม” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุลวนลามนางงามผู้เข้าประกวด โดยมีการอ้างด้วยว่าช่างภาพรายนี้ก่อเหตุมาหลายเวที มีผู้เสียหายแล้วร่วม 10 คน
ต่อมาหลังการจับกุมตัว ช่างภาพคนดังกล่าวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมกับอ้างว่า “เป็นการสมยอม” ก่อนถูกคุมขังในเรือนจำนาน 2 เดือน กระทั่งล่าสุด ศาลยกฟ้องในข้อหาแรก โดย แทน ธนวรรธน์ อดีตช่างภาพคนดังกล่าวได้ออกมาให้สัมภาษณ์เปิดใจกับผู้สื่อข่าวเป็นครั้งแรก หลังชนะคดีในศาลชั้นต้นซึ่งตัวเองถูกจับข้อหา “ก่อเหตุอนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา” ซึ่งเจ้าตัวยืนยันไม่เคยทำและเตรียมฟ้องกลับและสู้คดีให้ถึงที่สุด
ด้าน ทนายนิด้า ศรันยา ทนายความที่รับผิดชอบคดีให้กับผู้เสียหายฝั่งของนางงามผู้เข้าประกวด ก็มีการเคลื่อนไหวชี้แจงผ่านสื่อโซเชียลของตัวเอง ภายหลังข่าวอดีตช่าวภาพคดีข่มขืนนางงาม ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้อง โดยเป็นการโพสต์เนื้อหาผ่านบัญชีเฟซบุ๊กชื่อเดียวกับตัวเธอเอง พร้อมกับอธิบายที่มาที่ไปของการต่อสู้คดีความตามขั้นตอนและกระบวนการของข้อกฎหมายอย่างละเอียดยิบ
โดยระบุข้อความทั้งหมด ดังนี้
“#คดีข่มขืนนางงาม ที่ว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้วมาบอกว่าคดีพลิก พลิกในความหมายของนิด้าคือเรื่องเอากันไม่เคยเกิดขึ้นนะคะ แต่ในความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นจริง เอากันจริง โดยเราบอกว่าเราไม่ได้ยินยอม ตั้งใจไปถ่ายแบบไม่ได้ไปเอา ทางจำเลยสู้เรื่องว่ามาถ่ายแบบแล้วก็ตั้งใจเอากันด้วย จึงถือเป็นการยินยอม ไม่ใช่การข่มขืน ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยจึงสู้กันแค่ในเรื่องยอมหรือไม่ยอมแค่นั้นเอง ศาลมองว่ายอมก็ยกฟ้อง ศาลมองว่าไม่ยอมก็ลงโทษ ซึ่งในคดีนี้ศาลชั้นต้นให้น้ำหนักไปในทางยอมก็ยกฟ้องไป
ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ คดียังไม่ถึงที่สุด เพิ่งยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อตอนต้นเดือนนี้ จึงพูดอะไรเกี่ยวกับรายละเอียดของคดีมากกว่านี้ไม่ได้เพราะมีเรื่องละเมิดอำนาจศาลอยู่ ติดคุกได้สูงสุด 6 เดือน และสภาทนายความชุดนี้จริงจังเรื่องมรรยาททนายความมากด้วย จึงต้องระมัดระวังให้มากขึ้น
แต่ที่แน่ ๆ นิด้าเพิ่งรู้เหมือนกันว่ากล้องวงจรปิดมี เพราะในศาลนิด้ารีเควสมากอยากให้เอามาให้เห็นเหตุการณ์แต่ต้น ว่าก่อนเอากันมีที่มาที่ไปอย่างไร เจ้าตัวก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ติดตั้งไว้ จึงมาแต่ภาพนิ่งที่อีกฝ่ายถ่ายไว้โดยกล้องถ่ายภาพของตนเอง ซึ่งไม่สามารถเล่าเรื่องราวแต่ต้นก่อนเอาได้ ไม่มีเสียง นิด้าก็เลยไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ก่อนหน้าชัดเจนขึ้นแบบไม่สามารถโต้แย้งได้
ส่วนเรื่องการเรียกค่าเสียหาย เป็นไปตามมาตรา 44/1 เป็นกระบวนการของศาลให้สิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาเรียกค่าเสียหายเข้าไปในคดีได้ ไม่เคยเจรจานอกรอบทั้งก่อนศาลมีคำพิพากษาและเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว อีกทั้งค่าเสียหายดังกล่าวไม่มีผลเป็นการแลกกับการถอนฟ้องหรือแถลงไม่ติดใจเอาความคดีอาญาในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ไม่ว่าจะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้หรือไม่ก็ตาม คดีอาญาก็จะดำเนินต่อไป ขอให้รายละเอียดไว้เพียงเท่านี้นะคะ
ต่อมาจะพูดในส่วนของหลักการทั่วไป ในฐานะที่ทำคดีข่มขืนมาพอสมควร และปฏิเสธไปก็พอสมควรด้วยเหตุไม่มีพยานหลักฐานใดเลยมากไปกว่าคำบอกเล่าเพียงอย่างเดียว จะบอกว่าธรรมชาติของคนเอากันคือเอากัน 2 คน ไม่ให้คนเห็น ดังนั้นไม่มีทางที่คดีข่มขืนจะหาประจักษ์พยานยืนยันได้ว่าก่อนเอาเหยื่อ จะดิ้นต่อท้องร้องต่อยปากอย่างไร หรือจะทำอะไรหากไม่ยินยอม หรือระหว่างทางเหตุการณ์เป็นอย่างไร ดังนั้น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ใช้พยานหลักฐานแวดล้อมทั้งนั้นมาประกอบร่างให้ศาลเชื่อให้ได้
เช่น คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ จะอยากไปเอากับหมอไหม เป็นนางแบบตั้งใจไปถ่ายแบบส่งงานจะอยากไปเอากับตากล้องไหม หลังเกิดเหตุรีบประพฤติปฏิบัติตัวไปในทิศทางใด เล่าเหตุการณ์ให้คนที่ไว้ใจฟังไหม มีการเรียกเงินเรียกทองให้เข้าใจว่าแบล็คเมล์ไหม พยานแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นคำตอบว่าอาจจะยอมหรือไม่ยอมก็ได้ แต่ทางไหนน่าจะเป็นมากกว่าก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลพิจารณาจากร่างทั้งหมดที่ประกอบขึ้นมาในสำนวนคดีนั้นให้ศาลเห็น
เหยื่อบางคนก็ไม่ได้โชคดีเก็บหลักฐานอะไรไว้ได้มากพอ หรือถูกต้องถูกวิธี ดังนั้นในการทำคดีทั้งหมด คดีความผิดเกี่ยวกับเพศคือยากที่สุดแล้ว แต่ส่วนตัวรับรู้และเข้าใจในความเจ็บปวดของเหยื่อได้เสมอ
ดังนั้นคดีประเภทนี้แทบจะไม่เคยปฏิเสธในการว่าความให้เลย แต่อย่างน้อยในสำนวนคดีนั้นจะต้องมีหลักฐานแวดล้อมให้นิด้าพอเชื่อว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงประกอบเรื่องราวที่ลูกความเล่า และถ้าอยู่ในวิสัยที่สามารถช่วยแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในแง่มุมไหนให้ได้ก็จะทำ ที่นี้ก็เหลือแต่ว่าศาลเชื่อไหมแล้ว
โดยในคดีอาญาต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนปราศจากความสงสัยให้ได้ ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย โดยสุภาษิตที่ว่า ปล่อยคนชั่วไป 10 คน ดีกว่าเอาคนดี 1 คนเข้าคุก และผลในการทำคดีข่มขืนมีทั้งคดีที่แพ้และชนะ โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้แพตเทิร์นเดียวกันในการทำงาน และตั้งใจที่สุดแล้วในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อทุกคน
อีกทั้งยังต้องให้กำลังใจลูกความในการถูกขู่ฟ้องกลับด้วยเสมอในกรณีแพ้คดี นับตั้งแต่เริ่มต้นคดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุผลให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราถูกปิดปากมาแต่ต้น นอกเหนือจากต้องแบกรับกับความเจ็บแค้นและความอับอาย
และนิด้าเชื่อว่าเหยื่อเกินครึ่ง เลือกที่จะให้เรื่องนี้ตายไปกับตัวเองโดยไม่ทำอะไรต่อไป อย่างไรก็ตามในฐานะอาชีพทนายความเรายอมรับทุกคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่ว่าทำคดีแพ้แล้วไม่ยอมรับ
#ทนายความที่ไม่เคยแพ้คดีมีแต่ทนายที่ไม่เคยว่าความ ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นก็อุทธรณ์ไป ซึ่งคดีนี้เชื่อว่าคงสู้กันไปถึงศาลฎีกา และผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายต้องยอมรับเสมอ เพราะเชื่อว่าทนายความของทุกฝ่ายก็เต็มที่ ๆ สุดแล้วในทุกคดีของตน
“สุดท้ายนี้ นิด้าในฐานะคนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาหลายครั้งก่อนเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจมาเรียนกฎหมาย เป็นกำลังใจให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราทุกคน ยืนหยัดต่อสู้ ไม่ว่าจะสู้ในมิติไหนก็ตาม ไม่ว่าสู้แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม”
“ถ้าเชื่อใจ มั่นใจในความถูกต้อง ตั้งใจ จริงใจ ทนายคนนี้ไม่เคยทอดทิ้งลูกความ เคียงข้างเสมอและตลอดไปจนสุดทาง !!! #ทนายนิด้า #ทนายหญิงสายลุย” ข้อความชี้แจงล่าสุดในคดีข่มขืนนางงาม อ้างอิงข้อมูลจากโพสต์เฟซบุ๊กล่าสุดของทนายนิด้า นักกฎหมายที่เข้ามารับผิดชอบสู้คดีให้กับฝั่งผู้เสียหายซึ่งเป็นบรรดาหญิงสาวผู้เข้าประกวดเวทีแข่งขันคัดเลือกสาวงามที่เป็นข่าวดัง เมื่อปี 64.