ข่าวข่าวการเมือง

สรุปไทม์ไลน์ ยุบสภา-เลือกตั้ง 2566 วันไหนบ้าง

สรุปชัดเน้น ๆ ไทม์ไลน์ ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ 2566 หลังนายก ขึ้นทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ววันนี้ ยุบสภาแล้วยังไงต่อ กางปฏิทินการเมืองดูแล้วไม่งง

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 แล้ว คาดว่าจะลงประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ (20 มี.ค.) และจะมีผลทันที

หากไทม์ไลน์เป็นไปตามที่รัฐบาลได้หารือกับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถสรุปไทม์ไลน์การเปิดรับสมัคร ส.ส. และช่วงการจัดการเลือกตั้งใหญ่ได้ ดังนี้

วันที่ 3 – 7 เมษายน 2566 อาจเป็นวันเปิดรับสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 คาดว่าเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อาจเป็นวันเลือกตั้งทั่วไป

ทั้งนี้ตามกรอบเวลา ข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง 2566 จะเริ่มขึ้นเมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 หลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาไปแล้ว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ยุบสภาแล้ว กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ส่วนคณะรัฐมนตรี ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ

โดยผู้ประสงค์จะลงสมัครรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง ระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขต ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 30 วัน

จากนั้น ภายใน 5 วัน นับจากวันประกาศยุบสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส. และวันเปิดรับสมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ คือระบบเขต 400 เขตทั่วประเทศ และระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งยื่นบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรี ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ ต้องดำเนินการ และไม่ต้องดำเนินการ 4 ข้อ ดังนี้

1. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

3. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด

ข้อมูลจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button