ย้อนฟัง กกต. ตีความคำว่า “ราษฎร” หลัง ศร.มีมติเอกฉันท์
เลขาธิการสำนักงาน กกต. ชี้แจงรวมจำนวนคนต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขมาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่แรงงานต่างด้าว ชี้ชัดแบ่งเขตตามกฎหมายไม่ใช่เพื่อให้คนพอใจ
จากกรณีที่วันนี้ (3 มี.ค.2566) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ชี้ขาดประเด็นคำว่า ราษฎร ไม่รวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ส่งผลให้ 8 จังหวัด คือ 4 จังหวัด มีจำนวน ส.ส.ลดลง ได้แก่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ และ สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่ม คือ อุดรธานี ลพบุรี นครศรีธรรมราช และ ปัตตานี
และจากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วประเทศ 65,106,481 หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต ที่ 162,766 คน (เดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย คือ 165,226 คนต่อเขต)
ย้อนกลับไปฟัง เลขาธิการกกต. ตีความคำว่า “ราษฎร”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.66 ที่ผ่านมา นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดการอบรมให้ความรู้ภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัด รุ่นที่ 4 พื้นที่ 26 จังหวัดภาคกลาง เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติ กฎหมาย กฎ ระเบียบที่ปรับปรุงเปลี่ยนไปตามห้วงเวลาและสถานการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ถูกต้องเหมาะสมไปสู่ประชาชน
โดยเป็นการชี้แจงข้อสงสัยในหลายประด็น ซึ่งรวมถึงหัวข้อเรื่องราษฎร เรื่องการแบ่งเขต อย่างคำว่า “ราษฎร” นายแสวง ระบุว่า เป็นราษฎรตามกฎหมายทะเบียน ซึ่งหลังประกาศจำนวน ส.ส.พึงมีแต่ละจังหวัด จึงเอาจำนวนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทยประกาศมาคำนวณ
แต่การประกาศ 2 ครั้งหลัง มีการแยกผู้มีสัญชาติไทยกับผู้ไม่มีสัญชาติไทยออกจากกัน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่เกิดปัญหา แต่ครั้งนี้เกิดปัญหาชวนสงสัย
เลขาธิการกกต. ยืนยันในครั้งนั้นว่า สำนักงานกกต.และ กกต. ทำงานภายใต้กฎหมาย ไม่ได้คิดขึ้นเอง คำว่าราษฎรตามความเข้าใจของคนทั่วไปอาจจะถูก แต่ราษฎรตามกฎหมายที่นำมาใช้ มีคนบอกเอาต่างด้าว แรงงานมาคำนวณด้วย ขอชี้แจงว่าไม่ใช่ ราษฎรตามกฎหมายทะเบียนราษฎร 1.คนไทยแท้ๆ คือ ผู้ที่มีเลข 3 นำหน้าในบัตรประจำตัวประชาชน
โดยคนที่เป็นราษฎรได้มี 2 ประเภท หนึ่งคนไทย สองคนไม่มีสัญชาติไทย และคนไม่มีสัญชาติไทยจะถือเป็นราษฎรมี 2 เงื่อนไข ไม่ใช่คนที่เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย
ทั้งนี้ คนที่เป็นราษฎรต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักทุกคน แต่คนต่างด้าวจะได้รับเลข 13 หลักต้องเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายไทย คือ พ.ร.บ. บัตรประชาชน และกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็นเรื่องความมั่นคง โดยคนต่างด้าวประเภทนี้ถือเป็นประเภทที่แปด ไม่ถือสัญชาติไทย ได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมืองไทยโดยถูกกฎหมายและมีใบสำคัญคนต่างด้าว
หรือคนที่แปลงสัญชาติ และเงื่อนไขที่สองมีทะเบียนบ้านในประเทศไทย ไม่ใช่แรงงานต่างด้าวที่มาทำงาน แม้จะเข้าเมืองถูกกฎหมายก็จริง แต่ไม่เข้า 2 เงื่อนไข ก็ไม่ถือเป็นราษฎร แต่ต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายทะเบียนราษฎร จึงมีสิทธิที่จะได้รับบริการ ทำงานให้บ้านเราเสียภาษี ซึ่งคนกลุ่มนี้นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส. เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง.