โคราช สุ่มตรวจหา ฟอร์มาลิน ผงะเจอสารปนเปื้อนกว่า 70 รายการ
โคราช เผยผลสุ่มตรวจหา ฟอร์มาลิน ในร้านหมูกระทะและตลาดสดภายใน 22 พื้นที่ รวมแล้วกว่า 459 ตัวอย่าง พบ 70 ตัวอย่างมีสารปนเปื้อน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา รายงานผลตรวจ จากการสุ่มตรวจการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินในอาหารสดร้านหมูกระทะและตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ใน จ.นครราชสีมา เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2565
เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตรวจในพื้นที่ 22 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอแก้งสนามนาง ขามสะแกแสง ครบุรี จักราช เฉลิมพระเกียรติ ชุมพวง โชคชัย ด่านขุนทด เทพารักษ์ โนนไทย โนนสูง บัวลาย บัวใหญ่ บ้านเหลื่อม ประทาย พระทองคำ พิมาย เมืองนครราชสีมา สีคิ้ว เสิงสาง หนองบุญมาก และห้วยแถลง รวม 148 แห่งเก็บตัวอย่างทั้งหมด 459 ตัวอย่าง ผลปรากฎว่าผลตรวจพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่จำนวน 70 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 15.25 แบ่งเป็นดังนี้
1.สุ่มตรวจตลาดค้าส่ง 4 แห่งเก็บตัวอย่างไป 31 ตัวอย่าง พบสารฟอร์มาลิน 4 ตัวอย่าง (คิดเป็น 12.90%)
2.สุ่มตรวจตลาดสด 7 แห่งเก็บตัวอย่างไป 85 ตัวอย่าง พบสารฟอร์มาลิน 4 ตัวอย่าง (คิดเป็น 4.70%)
3.สุ่มตรวจตลาดนัด 13 แห่งเก็บตัวอย่างไป 33 ตัวอย่าง พบสารฟอร์มาลิน 3 ตัวอย่าง (คิดเป็น 9.09%)
4.สุ่มตรวจร้านหมูกระทะ 124 แห่งเก็บตัวอย่างไป 310 ตัวอย่าง พบสารฟอร์มาลิน 59 ตัวอย่าง (คิดเป็น 19.03%)
เมื่อวิเคราะห์หาการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหารสด เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ของเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2563-2565 ใน 4 จังหวัด “นครชัยบุรินทร์” พบว่า ช่วง 3 ปี จังหวัดนครราชสีมา มีการสุ่มตรวจมากสุด โดยตรวจตัวอย่างไป 3,107 ตัวอย่าง มี 2,851 ตัวอย่างที่ผลการตรวจผ่าน ไม่พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน
ส่วนจังหวัดชัยภูมิ ตรวจตัวอย่าง 240 ตัวอย่าง มี 201 ตัวอย่างที่ผ่าน ไม่พบฟอร์มาลิน , จังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจตัวอย่าง 526 ตัวอย่าง มี 446 ตัวอย่างที่ผ่าน ไม่พบฟอร์มาลิน และจังหวัดสุรินทร์ ตรวจตัวอย่าง 334 ตัวอย่าง มี 309 ตัวอย่างที่ผ่าน ไม่พบฟอร์มาลิน ซึ่งลำดับชนิดของตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลีน ในปี 2565 มากสุดคือ ปลาหมึกกรอบ รองลงมาคือ ปลากหมึกสด สไบนาง กุ้ง เล็บมือนาง และแมงกะพรุน
ซึ่งร้านที่พบการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลิน ทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการหยุดจำหน่ายและให้เก็บอาหารนั้นออกจากจุดจำหน่ายทันที พร้อมกับแนะนำให้เปลี่ยนแหล่งซื้อใหม่ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ฯ จะบูรณาการขยายผลจากการตรวจร้านหมูกระทะ โดยออกตรวจตลาดค้าส่งที่เป็นแหล่งที่มาที่จำหน่ายอาหารสดมีสารฟอร์มาลินตกค้างให้กับร้านหมูกระทะ และส่งหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดต้นทางแหล่งที่มาที่พบสารฟอร์มาลินตกค้างในอาหารสด เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป
นอกจากนี้จะเร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รู้วิธีการเลือกซื้ออาหารสดอย่างปลอดภัยจากสารปนเปื้อนในอาหาร และจะดำเนินแผนการตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในอาหารเป็นประจำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค