พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ราชาผู้ทรงธรรม
5 ธันวาคม 2565 “วันพ่อแห่งชาติ” ชวนอ่านประวัติและพระราชกรณียกิจ พร้อมร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” (ในหลวงรัชกาลที่ 9)
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และวันพ่อแห่งชาติ จันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 ทีมงาน The Thaiger จึงขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เชิญชวนชาวไทยศึกษา พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ของคนไทย
อีกทั้งทรงเป็นต้นแบบของพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม และเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั้งแผ่นดิน รวมไปถึงการเป็นแบบอย่างในบทบาทของ “พ่อ” ให้กับปวงชนชาวไทยให้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี
ประวัติ ในหลวง ร.9 ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’
เปิดประวัติในหลวง ร.9 หรือพระนามที่คนไทยคุ้นกันดี “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” หรือพระนามเต็มในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” อีกทั้งยังมีพระนามหลังจากรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์อีกด้วย คือ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ในหลวง ร.9 มีพี่สาวและพี่ชาย 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดล จึงทำให้พระราชมารดาของพระองค์ทรงเรียกพระองค์ว่า “เล็ก”
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอายุได้ 5 พรรษา ก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย หลังจากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนระดับมัธยมศึกษาทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ จากนั้นในระดับอุดมศึกษาทรงเลือกที่จะศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ แขนงวิศวกรรมศาสตร์ มหาวทิยาลัยโลซานน์
แต่ในภายหลัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 8 พระองค์จึงทรงเปลี่ยนมาศึกษาด้านสังคมศาสตร์ โดยเลือกเรียนนิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อเตรียมการสำหรับการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะมหากษัตริย์ไทย ซึ่งในขณะที่พระองค์ต้องครองราชสมบัติต่อจากพระเชษฐา ทรงมีอายุเพียงแค่ 19 พรรษาเท่านั้น
ในหลวง ร.9 ทรงหมั้นกับพระพันปีหลวง หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ก็ได้ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระราชินีสิริกิติ์ โดยพิธีจัดขึ้น ณ วังสระปทุม และในพิธีราชาภิเษกสมรสครั้งนี้เอง พระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระมเหสีข้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์”
หลังจากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง และมีพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
ในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระอุปัชฌาย์ ทีงมีฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” ในช่วงเวลานี้เองทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชินีสิริกิติ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังจากนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”
พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยทรงครองราชย์เป็นเวลาทั้งสิ้น 70 ปี 126 วัน ก่อนจะเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเหตุการณ์สวรรคตของพระองค์สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากการที่รัชกาลที่ 9 ปกครองประเทศไทยด้วยทศพิธราชธรรม เป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาและมหากรุณาธิคุณ แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองพระราชวงศ์อย่างมาตรา 112 แต่พระองค์ก็เคยตรัสไว้ว่าประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
อย่างที่กล่าวไปในพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.9 ว่าพระองค์นั้นทรงเป็นพระราชาที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม เมื่อครั้งที่พระองค์ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ให้การช่วยเหลือชาวไทยด้วยโครงการในพระราชดำริมากมาย โดยในวันนี้เดอะไทยเกอร์จะขอพาทุกคนไปศึกษาโครงการหลวงของพระองค์ที่เป็นที่รู้จัก 5 โครงการ ดังนี้
1. โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่
สำหรับโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ร.9 เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีการแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 30% ขุดสระเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าว 30% ปลูกผักผลไม้ และ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
จากนั้นก็ให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อควบคุมสินค้าทางการเกษตร และทำการติดต่อหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาสวัสดิภาพของเหล่าเกษตรกรต่อไป
2. โครงการฝนหลวง
เนื่องจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร รัชกาลที่ 9 จึงมีพระดำริให้จัดทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าว โดยใช้วิธีโปรยสารเคมีในท้องฟ้าเพื่อให้จับตัวกับไอน้ำ แล้วกลั่นลงมาเป็นเม็ดฝน
3. โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาทำการวิจัยและพัฒนากังหันน้ำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดน้ำเสียผ่านการเติมอากาศเข้าไปในน้ำ ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี และสามารถนำกลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้อีกครั้ง
4. โครงการปลูกหญ้าแฝก
โครงการปลูกหญ้าแฝกเป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ดิน โดยการปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเก็บความชื้นในดิน ทั้งนี้ระบบหญ้าแฝกยังช่วยลดต้นทุนในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินให้น้อยลง อีกทั้งยังมีอายุในการใช้งานยาวนาน สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย
5. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
ห้องสมุดหลาย ๆ โรงเรียนต้องมีสารานุกรมไทยเยาวชนไว้ให้นักเรียนอ่านอย่างแน่นอน ซึ่งเกิดมาจากพระราชประสงค์ของในหลวง ร.9 ที่ต้องการส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชนไทยในหลากหลายแขนงวิชา จึงได้รวบรวมออกมาเป็นสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน มีทั้งแบบรูปเล่มและออนไลน์