คาดการณ์ ‘พายุลูกใหม่’ ช่วงตุลาคม-ธันวาคม 65
จับตามองพยากรณ์อากาศ อาจมี พายุลูกใหม่ ตุลาคม – ธันวาคม 2565 ‘พายุหมุนเขตร้อน’ เตรียมรับมือทุกจังหวัด โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง ทั้งก่อน ระหว่างและหลังเกิดพายุ นายกแนะนโยบาย 5 ขั้นตอนแก้ปัญหาอุทกภัย เดินหน้าเยียวยาหากประชาชนได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย ได้มีการร่วมประชุมติดตาม สถานการณ์อุทกภัย ร่วมถึงหารือเรื่อง ‘พายุหมุนเขตร้อน’ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดจะส่งผลกระทบถึงภาคใต้ตอนบนและตอนกลางของประเทศ ในช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยจะเตรียมบริหารสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ในส่วนของรายละเอียดเรื่องเนื้อหาการประชุม ทางเพจเฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR ได้ออกมาโพสต์สรุปรายละเอียด ดังต่อไปนี้
“นรม. ประชุมติดตามฯ สถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ สั่งการทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดสถานการณ์
วันนี้ (3 ต.ค. 65) เวลา 09.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ให้การต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมติดตามการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ โดยมี…
- นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
- นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง
- นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน
- นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
- นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมประชาสัมพันธ์
ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผ่านระบบ VCS ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำและการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือของจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี จ.เชียงใหม่ จ.เพชรบูรณ์ และกรุงเทพมหานคร
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้มาให้กำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ทุกคน พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยได้มีการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ได้วางแผนไว้อย่างเป็นขั้นตอน ครบถ้วนสมบูรณ์
ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชนโดยรวม และในวันนี้จึงได้มารับฟังและรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะดูแลด้านงบประมาณ ด้านการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น พร้อมบูรณาการและเตรียมแผนการดำเนินงานและแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนในการดูแลประชาชนได้ อาทิ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ การเก็บกักน้ำ การจูงน้ำในพื้นที่ไว้ล่วงหน้า
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การระบายน้ำ ทั้งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกให้เกิดความสมดุล ตั้งแต่ภาคเหนือลงมายังภาคกลาง เพื่อไม่ให้เกิดการล้นตลิ่งหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งในอนาคตจะต้องดำเนินการขุดลอกคลองหรือการสร้างประตูน้ำเพิ่มเติม เพื่อลดความเดือดร้อนที่จะเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
แต่ก็ต้องมีการเตรียมการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา สำหรับพื้นที่ กทม ก็มีความห่วงใยพื้นที่ประสบปัญหา จึงขอให้ กทม ต้องวางแผนในการบริหารจัดการเพราะต้องรับน้ำจากด้านเหนือทั้งพื้นที่ในคันกั้นน้ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ได้แก่
1) การพยากรณ์ โดยขอให้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ ทุกกลุ่มได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเร็วที่สุด
2) ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ทุกกระทรวง/หน่วยงาน เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกล สำหรับช่วยเหลือประชาชนตามแผนงานและแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการกำจัดวัชพืช การจัดการขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ การเปิดทางน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัย
3) หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนและเส้นทางต่าง ๆ ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก และในอนาคตการสร้างถนนจะต้องไม่ขวางทางน้ำ และมีท่อสำหรับการระบายน้ำด้วย
4) การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ป้ายบอกทางในพื้นที่อุทกภัยให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดอุบัติเหตุในเส้นทาง
5) เมื่อสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ฯ ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีเกิดน้ำท่วมขังขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชนจิตอาสา ระดมสรรพกำลังทั้งกำลังคน และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ในการเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
รวมทั้งเตรียมความพร้อมของศูนย์อพยพ หรือ ศูนย์พักพิงให้มีอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านน้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นส่วนสำคัญในระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ต้องเร่งสร้างให้การรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพื่อให้ไม่เกิดการตื่นตระหนก รวมถึงสามารถเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐได้
ด้าน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวถึง ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยและการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานว่า…
ภาพรวมประเทศไทยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งสิ้น 71 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร 510 อำเภอ 2,356 ตำบล 14,327 หมู่บ้าน/ชุมชน มีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหาย 81,660 ครัวเรือน มี ผู้บาดเจ็บ 7 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 19 ราย
ผลกระทบความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,200,000 ไร่ และสำหรับสถานการณ์อิทธิพลของ “พายุโนรู” ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 6 จังหวัด และภาคกลาง 6 จังหวัด ในพื้นที่ 116 อำเภอ 740 หมู่บ้าน
มีประชาชนได้รับผลกระทบ 45,503 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำล้นตลิ่ง ใน 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และลุ่มน้ำชี-มูล
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 65 ประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าติดตามพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้
คาดอาจจะมีผลกระทบภาคใต้ตอนบนถึงภาคใต้ตอนกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานข้อมูลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมการเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 391/2565
วันที่ 3 ต.ค. 65″
สำหรับความคืบหน้าเรื่อง พายุลูกใหม่ หรือพายุหมุนเขตร้อน ที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2565 จะเป็นอย่างไรต่อไป สามารถรอติดตามความคืบหน้าไปพร้อมกับเดอะไทเกอร์ได้เร็ว ๆนี้.