วิธีรับมือฝีดาษลิง Clade 1b เช็กอาการ เพศไหนติดได้บ้าง-พิกัดฉีดวัคซีน
รู้จักโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1b เฝ้าระวังอย่างไม่ประมาท พร้อมวิธีรับมืออย่างมั่นใจ กลุ่มไหนเสี่ยงติดเชื้อ แนะนำสถานที่รับฉีดวัคซีน
หลังจากที่กรมควบคุมโรคแถลงด่วน พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ Monkeypox (Mpox) หรือ โรคฝีดาษลิง สายพันธุ์รุนแรง เคลท 1บี (Clade 1b) รายแรกในประเทศไทย (ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เรียกว่า New Variants) เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศคองโก ส่งผลให้ตอนนี้คนไทยมีโอกาสติดเชื้อฝีดาษลิงสูงขึ้น โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค อีกทั้งสายพันธุ์ดังกล่าวยังสามารถพบได้ในเด็กทุกเพศ มีอัตราการเสียชีวิตสูง
ดังนั้น ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงติดโรคหรืออยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ควรปฏิบัติวิธีป้องกันโรคฝีดาษลิงตามคำแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุข ดังนี้
เช็กอาการ-วิธีรับมือโรคฝีดาษลิง
สายพันธ์ุ Clade 1b เป็นฝีดาษลิงที่มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในไทย (Clade IIb) โดยพบการระบาดหลักในแอฟริกากลางและตะวันออก แม้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยที่เป็นคนไทยโดยตรง แต่การเฝ้าระวังและรู้เท่าทันอาการยังเป็นสิ่งจำเป็น
การตรวจสอบอาการเริ่มต้นเข้าข่ายสงสัยของโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1b ให้สังเกตว่าจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีไข้มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้น โดยเริ่มจากใบหน้าแล้วลามไปทั่วตัว ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และสะเก็ด อาจมีอาการคันร่วมด้วย
หากเป็นอาการตามที่บอกไปข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์ด่วน เพื่อรายงานข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังกรมควบคุมโรค
กรณีผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศแถบแอฟริกา หรือพื้นที่เสี่ยง เป็นนผู้เดินทางมาจาก หรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน
หากมีอาการไม่สบายตัวใน 1 อาทิตย์ ต้องรีบไปพบแพทย์พร้อมกับแจ้งประวัติการเดินทาง รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้สถานพยาบาลทำการวินิจฉัยและส่งต่อข้อมูลไปยังกรมควบคุมโรคตามขั้นตอน
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้ทุกเพศทุกวัย ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง หรือแผล รวมถึงการสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ระบาด
โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ. นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า เมื่อติดเชื้อแล้ว อาการโรคฝีดาษลิงก็จะออก
กลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
1. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
2. ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด
3. ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ
4. ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
5. ผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้ำ โดยเฉพาะเด็ก
6. ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก อวัยวะต่าง ๆ
7. เด็ก
8. ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยสาร/ยา/รังสี ที่ใช้ในการรักษามโรคมะเร็ง
ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเอง
วิธีป้องกันและรับมือกับการระบาดของโรคฝีดาษลิงที่ดีที่สุดคือการหมั่นล้างมือถูสบู่และล้างด้วยน้ำเปล่าอยู่บ่อย ๆ หรือจะใช้เจลแอลกอฮอล์ก็ได้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีอาการน่าสงสัย นอกจากนี้ควรแยกการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน จาน ชาม อาหาร
นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade1b ในประเทศแถบแอฟริกาหรือประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย คองโก เพราะฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลด 1บี สามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้
ฉีดวัคซีนฝีดาษวานรได้ที่ไหนบ้าง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้วแต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง แนะนำให้ฉีดก่อนและหลังจากเดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มเสี่ยง อ้างอิงข้อมูลจาก ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ระบุว่า หากฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถป้องกันได้ 68-80 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 สภากาชาดไทยออกประกาศให้บริการวัคซีนป้องกันโรค ฝีดาษวานร ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปแต่ก็เตือนว่าการฉีดไม่ได้เป็นการป้องกันโดยตรง ควรให้กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงฉีดจริง ๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
สำหรับการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษวานรสามารถทำได้ 2 แบบ ได้แก่
1. ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง
- ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
- ราคาเข็มละ 8,500 บาท
- ขนาดเต็มโดส 0.5 ML
2. ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
- ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
- ราคาจุดละ 2,200 บาท
- ครั้งละ 0.1 ML
- เงื่อนไข: ต้องมาพร้อมกัน 4 ท่าน
หากประชาชนคนไหนต้องการรับวัคซีนดังกล่าวสามารถมาได้ที่ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.), เวลา 13.00-16.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 16.00 น.) และวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมควบคุมโรค เผยไทม์ไลน์ผู้ป่วยฝีดาษลิง ยังไม่ฟันใช่ชนิด 1b ไหม
- สภากาชาดไทย เปิดบริการฉีด “วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร”
อ้างอิง : Center for Medical Genomics