ข่าวข่าวภูมิภาค

พบ “ฝีดาษลิง” รายแรกในไทย ที่ “ภูเก็ต” เป็นชายไนจีเรีย

กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ยืนยัน พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในประเทศไทย เป็นชายไนจีเรีย พบเริ่มมีอากาศป่วยมาประมาณ 1 สัปดาห์ ไข้ ตุ่มนูนแดง ผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus

วันนี้ กรมควบคุมโรครายการ รายงาน ผลการตรวจ “โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย” ยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันนี้ 21 กรกฎฎาคม 2565 ว่าพบ ผู้ป่วยติดเชื้อ Monkeypox หรือ ฝีดาษลิง จริง เป็นชายเดินทางมาจากไนจีเรีย ตอนนี้พักรักษาตัวอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต

ขอประชาชนมั่นใจอย่าตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค คัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยได้เร็ว

พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรยืนยันที่จังหวัดภูเก็ต เป็นรายแรกของประเทศไทย

พบฝีดาษลิงในไทย – วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) กองระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน

เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC)

ต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ค. 65 และทีมสอบสวนควบคุมโรครวบรวมข้อมูลการสอบสวนทั้งข้อมูลอาการทางคลินิก ข้อมูลระบาดวิทยา และข้อมูลห้องปฏิบัติการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในบ่ายวันที่ 21 กรกฎาคม 2565

ผลสรุปว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน “ฝีดาษวานรที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก” โดยได้ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตเพื่อมอบหมายเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการติดตามและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพร้อมประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มข้น

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโรค (WHO) ไม่ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตามที่ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

จึงขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ อย่าตื่นตระหนก และมั่นใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด

กรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาเคยคัดกรองและส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคจำนวน 19 รายซึ่งผลตรวจพบว่าไม่เป็นฝีดาษวานร

ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทย ที่คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล ยังมีการตรวจคัดกรองและรายงานโรคตามนิยามผู้ป่วยสงสัยทุกราย

โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งแพร่โรคได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองจากผู้ป่วย

จึงขอให้ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการสงสัยโรคฝีดาษวานร เช่น ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 65) จำนวนผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 12,608 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 66 ประเทศ ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 2,835 ราย เยอรมัน 1,859 ราย สหรัฐอเมริกา 1,813 ราย อังกฤษ 1,778 ราย และฝรั่งเศส 908 ราย

ที่มา : กรมควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button