ชวนมาส่อง ประวัติ “ศิลปินภูไท” หมอลำชื่อดังแห่งแดนอีสานที่ยังคงอนุรักษ์ทำนองลำแบบโบราณไว้ การันตีด้วยรางวัลและผลงานมากมาย อีกทั้งยังเป็นวงที่มีพระเอกหมอลำมากถึง 13 คน เรียกได้ว่าเป็นคณะหมอลำที่สามารถรักษาวัฒนธรรมภูไทให้เข้ากับทุกยุคสมัยได้ตลอดเวลา เป็นอีกหนึ่งตำนานหมอลำที่ทุกคนควรทำความรู้จักไว้
จากกรณีปมดราม่าแดนเซอร์ของคณะหมอลำศิลปินภูไท ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะเกิดความสงสัยว่าคณะหมอลำวงนี้มีประวัติที่มาอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์อยู่ ณ ขณะนี้ โดยทางทีมงาน The Thaiger ก็ไม่รอช้าที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคณะหมอลำสุดม่วนแห่งแดนอีสานวงนี้กัน ถ้าอยากรู้จักเหล่าศิลปินภูไทให้มากขึ้น ก็ตามไปอ่านพร้อมกันได้เลย
ประวัติ หมอลำ ‘ศิลปินภูไท’ หนึ่งในตำนานหมอลำที่ยังอนุรักษ์ทำนอง ‘กาเต้นก้อน’
ประวัติ หมอลำ ‘ศิลปินภูไท’ กับจุดเริ่มต้นจากหมอลำพื้นบ้าน
คณะหมอลำศิลปินภูไทนั้น แต่เดิมเป็นคณะหมอลำพื้นบ้านในชื่อคณะ “วีระพงษ์ วงศ์ศิลป์” ซึ่งผู้ก่อตั้งคือ สิทธิพงษ์ โทไข่ษร ศิลปินนักร้องลูกทุ่งชาวไทยที่มีผลงานมากมาย เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2507 ปัจจุบันอายุได้ 58 ปี โดย สิทธิพงษ์ โทไข่ษร หรือที่แฟนคลับหมอลำจะรู้จักกันดีในชื่อ “คุณพ่อวีระพงษ์” นั้นจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านเก่าเดื่อ ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
จากการที่คุณพ่อวีระพงษ์เป็นคนอำเภอคำม่วงแต่กำเนิด จึงมีสายเลือดของชาวภูไท ที่ใช้ภาษาภูไทและภาษาลาวผสมรวมกัน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาวอำเภอคำม่วงด้วย ในส่วนของประวัติคุณพ่อวีระพงษ์นั้น ในอดีตก่อนที่จะมาตั้งคณะหมอลำศิลปินภูไทเคยเปิดร้านตัดผมมาก่อน แต่ด้วยความฝันในวัยเด็กที่อยากมีคณะหมอลำเป็นของตัวเอง คุณพ่อวีระพงษ์จึงฝึกฝนการลำและการฟ้อนจาก “อาจารย์ทันใจหวาน” จนกระทั่งชำนาญในด้านนี้
ในปี พ.ศ. 2528 เมื่อคุณพ่อวีระพงษ์อายุได้ 21 ปี ก็เริ่มต้นไปเป็นศิลปินหมอลำกับคณะซุปเปอร์สารคาม ซึ่งเป็นคณะหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ๆ ในจังหวัดมหาสารคาม โดยในตอนนั้นคุณพ่อวีระพงษ์ได้รับบทพระเอกหมอลำ มีฉายาว่า “รุ่งตะวัน แดนภูไท” จากนั้นก็ย้ายไปอยู่กับคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์สารคามอีก 2 คณะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ก็ได้จัดตั้งวงดนตรีหมอลำพื้นบ้านคณะวีระพงษ์ วงศ์ศิลป์ ชื่อว่า “ศิลปินภูไท”
คณะหมอลำ ‘ศิลปินภูไท’ แหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เป้าหมายของการตั้งคณะหมอลำ ศิลปินภูไท เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวภูไท ซึ่งทางคุณพ่อวีระพงษ์ก็ขับเคลื่อนคณะหมอลำของตนเองด้วยใจรัก เดินสายออกลำในหลาย ๆ จังหวัดทั่วพื้นที่ภาคอีสาน จากนั้นก็ได้ปรับปรุงและพัฒนาให้คณะหมอลำของตนเองมีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยการนำเอาเพลงสตริง เพลงสากล เพลงไทย เพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกทุ่งหมอลำขึ้นแสดงโชว์
ถึงแม้ว่าคุณพ่อวีระพงษ์จะทำการแสดงโชว์นอกเหนือจากการลำก็ตาม แต่ด้วยการที่คณะศิลปินภูไทยังคงอนุรักษ์ทำนองกาฬสินธุ์สารคาม กาเต้นก้อน ซึ่งเป็นทำนองลำโบราณ ทำให้คณะหมอลำศิลปินภูไทนั้นมีเอกลักษณ์ในการลำต่างจากคณะอื่น ๆ และเมื่อผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ที่แสดงโชว์ด้วยแล้ว ยิ่งทำวงหมอลำศิลปินภูไทนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ทีมงานวงหมอลำศิลปินภูไทยังมีเลือดของชาวไทยที่มาจากเชื้อสายชาวภูไทเป็นส่วนใหญ่ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีทีมงานคนอื่น ๆ ที่มาจากหลากหลายพื้นที่ และหลากหลายวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน จึงทำให้คณะหมอลำวงนี้เป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งแดนอีสานเข้าไว้ด้วยกัน
แม้ว่าในปี พ.ศ. 2563 ทางคณะศิลปินภูไทจะสูญเสียบุคลากรคนสำคัญอย่าง “ครูเต้ย” หรือชื่อจริงว่า “วัชรไกร เย็นวัฒนา” ด้วยวัย 28 ปี เนื่องจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งครูเต้ยนั้นรับหน้าที่เป็นทั้งผู้จัดการวงและครูสอนเต้นที่มากความสามารถ แต่ก็ไม่อาจทำให้คณะหมอลำศิลปินภูไทสั่นคลอนได้
และทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของประวัติและที่มา คณะหมอลำศิลปินภูไท วงหมอลำหนึ่งเดียวในไทยที่ยังคงสืบสานไว้ซึ่งวัฒนธรรมการขับร้องของชาวภูไท และทำนองลำกาฬสินธุ์ สารคาม กาเต้นก้อน ให้คงอยู่ไว้กับแดนอีสานและผืนแผ่นดินไทยมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าจะมีดราม่าเกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งกายของแดนเซอร์วงหมอลำศิลปินภูไทออกมาในโลกออนไลน์อยู่ขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจตนารมณ์ในการสืบสานดนตรีศิลปะพื้นบ้านของชาวภูไทถูกทิ้งหายไปด้วย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการดึงดูดความสนใจคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมาสนใจวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่หลาย ๆ คนก็อาจจะมองว่าเป็นการเลือกวิธีดึงดูดผู้ชมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความคิดที่เป็นปัจเจกของแต่ละบุคคลไม่มีทั้งผิดและถูก