ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

1 ก.ค. 65 วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ ลูกเสือยังคงสำคัญต่อการศึกษาไทยหรือไม่?

1 ก.ค. 65 วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ หรือเรียกอีกชื่อว่า วันลูกเสือแห่งชาติ The Thaiger พาไปรู้จักที่มาและความสำคัญของวันนี้ที่ก่อกำเนิดโดยกษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งลูกเสือไทย รวมถึงที่มาของลูกเสือโลก (SCOUT) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มีลูกเสือไทยขึ้น วิชาลูกเสืออีกหนึ่งวิชาที่อยู่ในภาคบังคับของนักเรียนไทย ในปัจจุบันวิชานี้ยังสำคัญเท่าตอนอดีตหรือไม่ มาร่วมติดตามเรื่องราวเหล่านี้ไปพร้อมกับเราได้เลย

รู้จัก วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม 2565

รัชกาลที่ 6 บิดาผู้ก่อกำเนิดลูกเสือไทย

ปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งกองเสือป่า หรือ Wild Tiger Corps ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองเสือป่า คือ เพื่อเป็นการฝึกหัดวิชาทหารให้แก่ข้าราชการและพลเรือน ให้รู้จักระเบียบวินัย รวมถึงเพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองในยามฉุกเฉิน หรือเกิดภาวะสงคราม รวมถึงเป็นหูเป็นตาช่วยปราบปรามโจรผู้ร้ายในสังคม

ภายหลังรัชกาลที่ 6 เห็นว่ากิจการเสือป่าดำเนินไปได้อย่างดี จึงจัดตั้งกองเสือป่าสำหรับเด็กชายขึ้นโดยเรียกชื่อว่า “ลูกเสือ” ต่อมาในปีเดียวกันก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ เนื่องจากในวันดังกล่าวประเทศไทยมีลูกเสือคนแรกของประเทศ คือ นายชัพท์ บุนนาค โดยได้พระราชทานคำขวัญลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” รวมถึงมีการจัดตั้งกองลูกเสือที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธ เป็นแห่งแรก และต่อมาได้มีการจัดตั้งกองเสือป่าสำหรับเด็กหญิง พระราชทานนามว่า เนตรนารี โดยมีขึ้นที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หรือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบันเป็นแห่งแรกนั่นเอง

1 ก.ค. 65 วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

ลูกเสือโลก แรงบันดาลใจ ร.6 ในการก่อตั้งลูกเสือไทย

สาเหตุที่ทำให้เกิดกองลูกเสือขึ้น เนื่องมาจากสงครามระหว่างอังกฤษและบัวร์ (Boar) ที่แอฟริกาใต้ในปี พ.ศ. 2442 เพื่อป้องกันเมืองมาฟิคิง ผลคืออังกฤษเป็นฝ่ายชนะ โดยมีกองกำลังสำคัญที่ช่วยเหลือคือกองทหารเด็ก ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ลอร์ด บีพี หรือ ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) จึงตั้งกองลูกเสือโลก ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) มีสมาชิกแรกเริ่มเป็นเด็กชายจำนวน 20 คน โดยพักแรมกันอยู่ที่เกาะบราวน์ซี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่าเป็น พระราชบิดาแห่งการลูกเสือไทย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิชาลูกเสือขึ้นในไทย โดยขณะที่มีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสงครามป้องกันเมืองมาฟิคิงพอดี สี่ปีต่อมาหลังจากที่รัชกาลที่ 6 เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งกองลูกเสือป่าขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ลูกเสือ ภาษาอังกฤษ คือ SCOUT มีความหมายตรงตามตัวอักษร ดังนี้

S – Sincerity หมายความว่า ความจริงใจ

C – Courtesy หมายความว่า ความสุภาพและอ่อนโยน

O – Obedience หมายความว่า การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน

U – Unity หมายความว่า ความเป็นหมู่มวล เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

T – Thrifty หมายความว่า มัธยัสถ์ ประหยัด

กิจการลูกเสือในไทย

กิจการลูกเสือในประเทศไทยนับว่าเฟื่องฟูมาก โดยมีกิจกรรมที่สำคัญซึ่งกองลูกเสือไทยได้เข้าร่วมกับกองลูกเสือโลก ดังนี้

– พ.ศ. 2463 ได้ส่งคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ

– พ.ศ. 2465 คณะลูกเสือแห่งชาติ ได้เข้าเป็นสมาชิกสมัชชาลูกเสือโลก

– พ.ศ. 2467 ได้ส่งคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเดนมาร์ก

– พ.ศ. 2478 กำเนิดตราประจำคณะลูกเสือแห่งชาติ

– พ.ศ. 2546 เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 20

– พ.ศ. 2554 ครบรอบ 100 ปี การลูกเสือไทย

ลูกเสือไทย

กิจกรรม วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม 2565

เมื่อถึงวันที่ 1 ก.ค. ของทุกปี จะมีกิจกรรมการเดินสวนสนามของลูกเสือขึ้นที่สนามศุภชลาศัย โดยแต่ละปีจะมีกองลูกเสือจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพและปริมณฑลมาร่วมเดินสวนสนามนับหมื่นคน รวมถึงมีการกล่าวคำปฏิญาณ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อบิดาแห่งลูกเสือไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่สามของโลกที่ได้มีการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศ

คำปฏิญาณและเพลงลูกเสือไทย

ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2544 ได้มีการบรรจุวิชาลูกเสือเข้าในหลักสูตรการศึกษาวิชาบังคับโดยกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนใหญ่จะเรียนในระดับของลูกเสือสำรองไปจนถึงลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ โดยมีลูกเสือทั้งหมด 4 เหล่า ได้แก่ ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ โดยมีคำปฏิญาณและเพลงของลูกเสือที่สำคัญดังนี้

คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง

ลูกเสือสำรอง คือนักเรียนวัยประถมศึกษา ตั้งแต่ ป.4 – ป.6 โดยคำปฏิญาณของลูกเสือสำรองมีดังนี้

“ข้าขอสัญญาว่า
ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตรย์
ข้อ ๒ ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน”

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ม.1 – ม.3 โดยคำปฏิญาณของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่มีดังนี้

“ด้วยเกียรติของข้า ข้าขอสัญญาว่า

ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ ๒ ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ ๓ ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ”

1 ก.ค. 65 วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

เพลงราชสดุดี

ข้าลูกเสือเชื้อไทยใจเคารพ
ขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรงศรี
พระบาทมงกุฎเกล้าฯ จอมเมาลี
ทรงปราณีก่อเกื้อลูกเสือมา
ทรงอุตส่าห์อบรมบ่มนิสัย
ให้มีใจรักชาติศาสนา
ทรงสั่งสอน สรรพกิจ วิทยา
เป็นอาภาผ่องพุทธิวุฒิไกร
ดังดวงจันทราทิตย์ประสิทธิ์แสง
กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย
พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน
ดวงหทัยทวยราษฎร์ไม่คลาดเอย

เพลงลูกเสือไทย

เหล่าลูกเสือ ของธีรราช
ทะนงองอาจ สืบชาติเชื้อพงศ์พันธ์
สมัครสมาน โดยมีสามัคคีมั่น
พวกเราจะร่วมรักกันจะผูกสัมพันธ์ตลอดกาล
มีจรรยา….รักษาชื่อ สร้างเกียรติระบือ
เลื่องลือต่อไปช้า-นาน ร่าเริงแจ่มใส
ใส่ใจรักให้ยืนนาน พวกเราล้วนชื่นบาน
เพราะกิจการลูกเสือไทย

เพลงวชิราวุธรำลึก

วชิราวุธพระมงกุฎเกล้า เจ้าประชา
ก่อกำเนิดลูกเสือมา ข้าเลื่อมใส
พวกเราลูกเสือ เชื้อชาติไทย
เทิดเกียรติพระองค์ไว้ ด้วยภักดี
ลูกเสือรำลึกนึกพระคุณ เทิดบูชา
ปฏิภาณรักกษัตริย์ ชาติศาสน์ศรี
มาเถิดลูกเสือ สร้างความดี
เพื่อศักดิ์ศรีลูกเสือไทย ดั่งใจปอง

หลักสูตรลูกเสือ กับการศึกษาไทยในปัจจุบัน

สำหรับวิชาลูกเสือในประเทศไทยปัจจุบัน เป็นที่ถกเถียงว่าวิชานี้จำเป็นจะต้องมีต่อไปหรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาเครื่องแบบแพงเป็นภาระที่ผู้ปกครองจะต้องแบกรับ รวมถึงงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการต้องใช้ในแต่ละปี แต่ทั้งนี้เนื้อหาวิชาก็น่าสนใจว่าเป็นทักษะที่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การว่ายน้ำเบื้องต้น การป้องกันอัคคีภัย การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น เป็นต้น

แม้ว่าประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่หากกลับไปสู่อุดมการณ์เริ่มต้นของลอร์ดบีพี ผู้กำเนิดการลูกเสือที่ได้กล่าวไว้ว่า การลูกเสือไม่ใช่วิชาที่พึงศึกษาคร่ำเคร่ง แต่เป็นเรื่องที่นำมาซึ่งสุขภาพ ความสำราญ ฝีไม้ลายมือ และการช่วยเหลือ อาจได้ข้อสรุปว่าวิชาที่ดีก็ควรมีต่อไป เพียงแต่ควรอะลุ่มอล่วยกับเครื่องแต่งกายก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

1 ก.ค. 65 วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

อ้างอิงจาก (1) (2) (3)

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button