‘ประยุทธ์’ ติดตามสถานการณ์น้ำ เร่งแก้ปัญหา ภัยแล้ง
โฆษกสำนักนายก เผย ประยุทธ์ เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ เร่งแก้ปัญหา และ วางแผนป้องกัน ภัยแล้ง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
นาย ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามและให้ความสำคัญกับสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยจากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหลายจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะพื้นที่ของจังหวัดมีแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจะเป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนได้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบอย่างบูรณาการ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งปี 2565 ที่กำลังมาถึง เน้นย้ำการหาวิธีเก็บกักน้ำ การกระจายน้ำ และการจูงน้ำไว้ใช้ในยามปกติและในฤดูแล้งให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ศึกษาและบูรณาการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ในระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ให้บูรณาการแผนงาน/โครงการจัดหาแหล่งน้ำใต้ดินร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเชิงพื้นที่ในระยะเร่งด่วน และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบสภาพปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ให้ครอบคลุม เร่งทำการสำรวจความเดือดร้อน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งให้จังหวัดเร่งเสนอแผนงาน/โครงการสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นตรวจสอบสภาพอาคารควบคุมน้ำ เตรียมความพร้อมสำหรับการเก็บกักน้ำในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด ต้องเดินหน้าสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ ย้ำการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ แจ้งเตือนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะทำให้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งผ่านพ้นไปได้
“รัฐบาลมีการเร่งรัดและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำสำหรับรับมือสถานการณ์น้ำแล้ง รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก ที่ต้องให้ความสำคัญกับน้ำกิน-น้ำใช้ เป็นอันดับแรก
โดยได้วางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง อาทิ การเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 ให้ได้มากที่สุด ระบายน้ำเท่าที่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญในการวางแผนจัดสรรน้ำ พร้อมกับการเตรียมน้ำต้นทุนไว้ใช้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะยาวนั้น ยังมีโครงการอีกเป็นจำนวนมากที่รอดำเนินการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยรัฐบาลได้เตรียมการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ
ขอให้ประชาชนไว้ใจและมั่นใจว่าการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ขอความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า รวมทั้งร่วมกันรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อเพิ่มแหล่งต้นน้ำและอากาศบริสุทธิ์ ร่วมมือกันช่วยให้ประเทศชาติและทุกคนผ่านพ้นวิกฤตแล้งไปได้” นายธนกรกล่าว
- ครม. อนุมัติ งบ 3 พันล้านบาท แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง
- มติ ครม. เบิก ‘งบกลาง’ 500 ล้าน รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม
- ‘ประยุทธ์’ ห่วง ขยะติดเชื้อโควิด สั่งจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ