ข่าวภูมิภาค

สทนช. ทำการชี้แจงถึง แผนหลักพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ

สทนช. ทำการชี้แจงถึง แผนหลักพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ที่มีการนำเสนอไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยแผนงานดังกล่าวมีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์แน่นอน

(17 ธ.ค. 2564) สทนช. ชี้แจง แผนหลักพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ แก้ปัญหาน้ำเสียยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพจัดการน้ำหลาก กทม. และ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้คุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯ และฉะเชิงเทราดีขึ้น หลังเสร็จสิ้นโครงการในปี 2574 ย้ำคุมเข้มการใช้งบประมาณ 84 โครงการคุ้มค่า โดยมีกรอบเวลาดำเนินการเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

Advertisements

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงประเด็นที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณีคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) ระยะกลาง (ปี 2565-2570) และระยะยาว (ปี 2571-2574) มีโครงการที่จะดำเนินการจำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 82,563 ล้านบาทนั้น สทนช.ขอชี้แจงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแผนงานดังกล่าว

โดยมีหน่วยงานร่วมกันดำเนินการ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กรมควบคุมมลพิษ, องค์การจัดการน้ำเสีย, กรมชลประทาน, กรมเจ้าท่า, จังหวัดฉะเชิงเทรา, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีเป้าหมายโครงการ 5 ด้านหลักด้วยกัน คือ

1. การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน จำนวน 10 โครงการ

2. การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ จำนวน 14 โครงการ

3. การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ จำนวน 44 โครงการ

Advertisements

4. การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ จำนวน 1 โครงการ

5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ จำนวน 15 โครงการ

ทั้งนี้ การพิจารณาโครงการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เน้นย้ำถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

โดยเฉพาะในเรื่องการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำสามารถเร่งการระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กม. ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่ และในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่ และที่สำคัญคลองแสนแสบจะกลับมาเป็นคลองสวย น้ำใส ตามวิสัยทัศน์ของแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ คือ “เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำอย่างยั่งยืน” อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน เมื่อแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบแล้วเสร็จ จะทำให้มีการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำที่ทันสมัยและความปลอดภัย โดยมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบในกรุงเทพมหานครทั้งสาย และใช้เรือไฟฟ้าในการสัญจรรองรับการใช้บริการของประชาชนได้สูงถึง 1,000 คน/วัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร มีการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน และอาคารประเภทต่างๆ พร้อมมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้น้ำในคลองสามารถเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่งให้พื้นที่การเกษตรได้ 6,000 ไร่ อีกด้วย

เนื่องจากวงเงินของแผนฯ มีจำนวนสูง ซึ่งวงเงินส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นของกรุงเทพมหานคร เรื่องการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย อุโมงค์ระบายน้ำ คณะรัฐมนตรี ได้มอบให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ความจำเป็นเร่งด่วน วิธีการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ตลอดจนความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน

สำหรับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สทนช. จะขับเคลื่อนภายใต้คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายเมื่อ 14 ธันวาคม 2564 ต่อไป

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวกรุงเทพเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวกรุงเทพ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button