ข่าวข่าวภูมิภาค

เริ่มแล้ว ‘กินเจ 2564’ 6-14 ต.ค. 64 เตรียมล้างท้องคืนนี้ กินอะไรได้บ้าง เยาวราชเงียบเหงา

เริ่มแล้ว “กินเจ 2564” 6-14 ต.ค. 64 เตรียม “ล้างท้อง” คืนนี้ เยาวราชเงียบเหงา เหตุปีนี้งดจัดเทศกาลกินเจ

เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้ว กับ เทศกาลถือศีลกินผัก ที่ชาวไทยเรียกว่า “กินเจ” โดย กินเจ 2564 นี้ หลายคนถามเข้ามาว่า กินเจปีนี้ตรงกับวันไหน เนื่องจากเป็นการนับปฏิทินแบบจันทรคติ ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินแบบสากลแล้ว จะตรงกับวันที่ 6-14 ตุลาคม 2564 รวม 9 วัน อันเป็นประเพณีแบบเต๋าลัทธิเต๋า

Advertisements

ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ เป็นโอกาสอันดีให้ผู้คนได้ชำระจิตใจ รักษาศีล ดำรงอยู่ในวัตรความสงบทั้งกาย วาจา และใจ งดทานเนื้อสัตว์ และถือศีล 8

ธรรมเนียมที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมทำก่อนเข้าเทศกาลกินผักคือการ “ล้างท้อง” ปีนี้ จะทำกันช่วงเย็นของวันที่ 5 ต.ค. 2564 เพื่อเป็นปรับสมดุลร่างกาย และทำให้ท้องปราศจากอาหารที่มาจากสัตว์ อาหารคาว เพื่อว่าเมื่อเข้าสู่การกินผัก กินเจตลอด 9 วัน ร่างการจะสามารถย่อยอาหารได้ตามปกติ ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

ล้างท้องกินเจ ทำยังไง?

กรมอนามัย ให้คำแนะนำเรื่องการ ล้างท้องก่อนกินเจ ว่า ช่วงล้างท้องควรปรับอาหารให้มีผักมากขึ้น ลดเนื้อสัตว์ เปลี่ยนจากเนื้อสัตว์ใหญ่เป็น ปลา ไข่ นม ถั่ว ที่สำคัญคือมื้ออาหารควรมีโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกาย “อาหารหนึ่งจาน ควรประกอบไปด้วย โปรตีน จากถั่วเมล็ดแห้ง คาร์โบไฮเดรต จากข้าวแป้ง วิตามินและแร่ธาตุ จากพืชผัก ผลไม้ และไขมัน จากน้ำมันแต่พอดี 2. ต้องมั่นใจว่าได้สารอาหารโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้งอย่างเพียงพอ ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด กินขนมที่ทำจากถั่ว เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาลทรายแดง เต้าส่วน ขนมถั่วแปบ ถั่วกวน เป็นต้น”

การล้างท้อง ถ้าทำได้ 2 วันก่อนหน้ายิ่งดี

กินเจกินอะไรได้บ้าง

เทศกาลกินเจ สิ่งที่ต้องห้ามแน่นอนคือ ห้ามกินเนื้อสัตว์ และกินผักได้ มาแจกแจงกันให้ชัด ๆ ดีกว่า ว่าอะไรกินได้หรือไม่ได้

Advertisements

อาหารที่คนกินเจทานได้ คือ

  1. ชา กาแฟ แบบที่ไม่ใส่นม เนย หรือครีมเทียม
  2. อาหารเสริมที่ไม่ได้ทำมาจากสัตว์ทานได้
  3. ขนมปังเจ
  4. อาหารสำเร็จรูปสูตรเจ

กินเจกินอะไรไม่ได้บ้าง

  1. เนื้อสัตว์ หอมนางรม น้ำผึ้ง ปูอัด
  2. นม เนยม น้ำมันจากสัตว์ ชีส โยเกิร์ต
  3. อาหารรสจัด เช่น เผ็ด หวาน เค็ม เปรี้ยว
  4. งดผัก เครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน เช่น หัวหอม กระเทียม กุยช่าย
  5. แอลกอฮอล์ทุกชนิด

กินเจกินไข่ได้ไหม

ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นผลผลิตจากสิ่งมีชีวิต

ข้อห้ามช่วงกินเจ

ช่วงกินเจ ถือว่าเป็นการรักษาศีลรูปแบบหนึ่ง จึงมีข้อกำหนดห้ามบางประการเพื่อรักษาร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งสรุปได้เบื้องต้นดังนี้

  1. ห้ามมีเพศสัมพันธ์
  2. ห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ห้ามกินเนื้อสัตว์
  3. ห้ามกินอาหารจากคนทำอาหารที่ไม่ได้กินเจ
  4. ห้ามพูดโกหก คำหยาบ
  5. ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด

กินเจ 2564 เยาวราช

เทศกาลกินเจ เยาวราช ถือเป็นถนนสายสำคัญ ศูนย์กลางของการจัดงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยสถานการณ์โควิดประเทศไทยที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงไม่จัด กิจกรรมเทศกาลงานเจเยาวราช ปี 2564

อย่างไรก็ดี ประชาชนก็ยังถือศีลกินผักได้ตามปกติ

กินเจ 2564 ภูเก็ต

ขณะเดียวกัน ในจังหวัดภูเก็ตเอง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเทศกาลนี้ในประเทศไทย มีจุดเด่นคือขบวนม้าทรง ซึ่งเป็นการทรงดวงวิญญาณพระจีนมารับทุกข์รับโศกแทนประชาชนที่เข้าร่วมถือศีล ด้วยโควิดระบาด จึง มีคำสั่ง มาตรการควบคุมการจัดงาน ดังนี้

1.ให้แต่ละศาลเจ้าจัดพิธีการเป็นการภายในโดยมีผู้เข้าร่วมพิธี เฉพาะคณะกรรมการที่มีหน้าที่ม้าทรงและผู้เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นตามที่ผู้บริหารศาลเจ้ากำหนด โดยให้มีมาตรการ D-M–T-T-A อย่างเคร่งครัด 2.ม้าทรงทุกคนและพี่เลี้ยง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในศาลเจ้าทุกคน ต้องได้รับการฉีดวัคชีนครบสองเข็มโดยได้รับการตรวจ (Antigen Test Kits) ATK ก่อนเริ่มวันถือศีลกินผัก 1 วัน และตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการกินผัก ทั้งนี้ หากพบว่ามีผู้ใดมีอาการเข้าเกณฑ์นิยามผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under Investigation : PUI) ให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลและงดร่วมกิจกรรม โดยให้ผู้บริหารศาลเจ้า หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบและควบคุมกำกับในกรณีดังกล่าว

3.ลดขั้นตอนและพิธีกรรมให้เหลือเท่าที่จำเป็น หากมีพิธีกรรมที่จะต้องออกนอกสถานที่ให้ใช้ขบวนรถแทนการเดินเท้า 4.ลดจำนวนม้าทรงและพี่เลี้ยง ให้ประทับทรงเท่าที่จำเป็น และงดการแสดงอภินิหารของม้าทรง 5.ให้มีการคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ศาลเจ้า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ในทุกพิธี ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รักษาระยะห่าง ตามมาตรการ D-M-H-T-T-A 6.ลดจำนวนจุดไหว้ให้เหลือเท่าที่จำเป็นและกำหนดจุดปักธูปสำหรับประชาชนให้อยู่ภายนอกห้องที่มีอากาศถ่ายเท 7.ห้ามมิให้ร้านค้าจำหน่ายประทัด (ยกเว้นประทัดแพที่ได้รับอนุญาต และห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงและเล่นประทัด ดอกไม้เพลิงอันตราย ตามประกาศของจังหวัดภูเก็ต

8.การจัดโรงครัว ให้จัดเท่าที่จำเป็น และไม่ควรจัดให้มีการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยให้แต่ละศาลเจ้ากำหนดรูปแบบการแจกจ่ายอาหารที่ลดความแออัดและให้สอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตให้คำแนะนำ ภายใต้การควบคุมกำกับของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ตามผนวก ก แนบท้ายคำสั่งนี้ 9.การรวมกลุ่มกันของทุกกิจกรรม ห้ามรวมกลุ่มเกิน 100 คน ทั้งนี้ ให้รวมทุกประเภทและเว้นระยะห่าง 1- 2 เมตร โดยให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

มาตรการควบคุมโรค 1.กรณีพบผู้ติดเชื้อในบริเวณประกอบพิธีกรรม หรือโรงครัวหรือสถานทีประกอบอาหาร หรือร้านค้าบริเวณศาลเจ้า ให้สถานพยาบาลในพื้นที่นำตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับกรรักษา และกักตัวผู้สัมผัส ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด แล้วให้ปิดบริเวณนั้น อย่างน้อย 3 วัน เพื่อล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังจากนั้น จึงให้ผู้ปฏิบัติงานชุดใหม่เข้าปฏิบัติงานต่อได้

2.กรณีพบว่าประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในศาลเจ้าเป็นผู้ติดเชื้อและผลการสอบสวนโรคพบว่าผู้ใดในศาลเจ้า/ร้านค้า บริเวณศาลเจ้าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องเข้ารับการกักตัวตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค 3.กรณีพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้เข้าร่วม ให้พิจารณาปรับลดกิจกรรม ลดจำนวนคนเข้าร่วม และหากพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 20 ของผู้เข้าร่วมให้ยุติการจัดงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรค

ให้ศาลเจ้าทุกแห่งในพื้นที่ที่มีการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU)กับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ตามมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2564ในแต่ละอำเภอให้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของหน่วยปฏิบัติกาควบคุมโรคติดต่ออำเภอของแต่ละอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตามผนวก ข แนบท้ายคำสั่งนี้

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564.

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button