ข่าว

ราชทัณฑ์ แถลงอาการเพนกวินและแกนนำป่วยโควิด แจงเหตุไม่ส่งรักษาข้างนอก

แถลงชัดกรณี 4 แกนนำป่วยโควิด รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ เพนกวิน พูดคุยรู้เรื่อง ค่าออกซิเจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ชี้ ราชทัณฑ์ มีมาตรฐานดูแลได้

วันนี้ (23 ส.ค.64) กรมราชทัณฑ์ ได้แถลงข่าวถึง สถานการณ์การควบคุมตัวแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ในประเด็นการส่งผู้ต้องขังป่วยออกรับรักษาตัวภายนอกเรือนจำ

โดยนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาชี้แจงเมื่อ เวลา 14.00 น. ผ่านระบบการ Live สด ทางช่องทางเฟซบุ๊กเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ โดยรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้กล่าวถึงกรณีมีข่าวในสื่อโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมซึงเป็นแกนนำที่ป่วยโควิด ออกไปรักษาตัวยังภายนอก

ประเด็นนี้ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า จากการที่ได้รายงานมานั้น ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับแกนนำผู้ชุมที่ติดเชื้อโควิด จำนวน 4 ราย

1. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน อาการวันนี้ พูดคุยรู้เรื่อง ไม่มีอาการเหนื่อยหลังทำกิจกรรม เดินออกกำลังกายบริเวณรอบเตียงภายในห้องผู้ป่วยได้ หายใจปกติ สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ตามปกติแล้ว นอนพักผ่อนได้ดี สัญญาณชีพ ค่าออกซิเจน อยู่ในเกณฑ์ปกติ แพทย์ได้ให้การรักษาตามอาการ ร่วมกับยาพ่นโรคประจำตัว

2. นายสิริชัย นาถึง ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตัวเองได้ หายใจปกติ นอนหลับได้ ขับถ่ายปกติ สัญญาณชีพ ค่าออกซิเจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. พรหมศร วีระธรรมจารี รู้สึกตัวดี หายใจปกติ ไม่มีไข้ หอบเหนื่อย หรืออาการปวดศีรษะแต่อย่างใด สัญญาณชีพ ค่าออกซิเจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. นายแซม สาแมท รู้สึกตัวดี ถามตอบรู้เรื่อง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่อ่อนเพลีย ออกเสียงได้ตามปกติ ไม่มีหอบเหนื่อย นอนหลับพักผ่อนได้ สัญญาณชีพ ค่าออกซิเจน อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นายธวัชชัย กล่าวต่อว่าที่ต้องออกมาชี้แจงในวันนี้เพราะทั้งจากความห่วงใยของทางครอบครัวผู้ต้องขัง หรือการขอร้องจากกลุ่มเพื่อนของผู้ชุมนุม ต้องเรียนว่า การรักษาผู้ป่วยในกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะผู้ต้องขัง ได้ดำเนินการให้เป็นไปในมาตราฐานเดียวกัน ซึ่งมีทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลเรือนจำกลางบางขวาง เป็นแม่ข่าย ในการรับรักษาผู้ต้องขัง โดยเฉพาะโรคโควิด-19 นี้ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์และมาตรฐานของกรุงเทพมหานคร และอยู่ในระบบประกันสุขภาพสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย

ประการสำคัญ ในการจะนำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาได้ เนื่องจากผู้ต้องขังเป็นแกนนำทั้ง 4 นั้น เป็นผู้ต้องขังที่เรียกว่า “อยู่ระหว่างการสอบสวน” ของเจ้าพนักงานตำรวจ

ดังนั้นต้องตกอยู่ภายใต้กระบวนการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ เรือนจำจะเป็นผู้รับตัวฝากขังมาจากศาล ระหว่างการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ การดำเนินการกับผู้ต้องขังเหล่านี้ต้องขออนุญาตศาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคุมขัง หรือ การพาตัวออกไปรักษา เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีของศาล เมื่อศาลต้องการตัว เรือนจำจะต้องมีตัวไปให้ศาล นี่เป็นหลักสำคัญ

และสำคัญที่สุด คือ ผู้บัญชาการเรือนจำแห่งนั้นๆ เมื่อศาลอนุญาตแล้ว ผู้บัญชาการเรือนจำถึงจะอนุญาตตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาอาการภายนอกเรือนจำ พุทธศักราช 2563 ซึ่งก็จะต้องดูขีดความสามารถของเรือนจำ ถ้าเราไม่สามารถรักษาได้ ผู้บัญชาการเรือนจำถึงจะขอนุญาตศาลในการรักษาภายนอก

อีกทั้ง การแพร่ระบาดของโควิดเป็นทั่วไป ทั้งข้างนอกก็เป็น ข้างในก็มี ขณะนี้โรงพยาบาลราชทัณฑ์ใช้การรักษาที่มีมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ต้องขังที่ป่วยจะได้รับการเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 200,000 เม็ด เพียงพอที่จะดูแลผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วย

ยาฟ้าทะลายโจร ที่อยู่ตามเรือนจำต่างๆ และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีก 7 ล้านเม็ด ซึ่งเพียงพอในการดูแลโรคโควิด

นอกจากนี้ การส่งตัวผู้ต้องขัง จะต้องเสียกำลังเจ้าหน้าที่ 2 นาย เพราะหากผู้ต้องขังหลบหนีไม่มีตัวไปให้ศาล เจ้าหน้าที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในตอนท้าย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังคงยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ ดูแลผู้ต้องขังโดยมีมาตรฐาน ให้การเข้าถึงยาเป็นอย่างดียิ่ง ไม่แพ้กับผู้ที่รับการรักษาอยู่ภายนอกเรือนจำ

ดูแลผู้ต้องขังเหมือนลูกหลาน เหมือนญาติคนหนึ่ง และจากสถิติ กรมราชทัณฑ์มีคนป่วยโควิดแล้วประมาณ 50,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 90 รายเท่านั้น ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงวัคซีน ได้รับยารวดเร็ว ทำให้การรักษาโควิด เป็นไปอย่างมีมาตราฐานและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button