หมอเตือนอย่าแห่ซื้อ ถังออกซิเจน ไปกักตุน อันตราย ผู้ป่วยโควิดรุนแรงไม่มีใช้
ศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดเริ่มไม่มีใช้ วอนอย่าแห่กักตุน ถังออกซิเจน ซ้ำเติมผู้ป่วย โควิด-19 ที่อาการรุนแรงจริงๆ ชี้ซื้อใช้เองเสี่ยงอันตราย
นพ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์วันที่ 15 ก.ค.64 ขอประชาชนอย่าแห่ซื้อถังออกซิเจนมากักตุน
หวั่นคนจำเป็นจริงๆจะไม่มีใช้ พร้อมชี้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่ลุกลามหนักตอนนี้ ส่วนนึ่งมาจาก ประมาทรอบแรกที่ทะนงว่าคุมเชื้ออยู่
โพสต์แรกของ นพ.รังสฤษฏ์ แสดงความเห็น โดยขอร้องประชาชน อย่าแห่กักตุนถังออกซิเจน
ทุกคนย่อมกลัวตาย
แต่เวลานี้
ขออย่าตื่นตระหนก กักตุน แท้งค์ออกซิเจน ที่บ้านกันเลยครับ
มันจะทำให้เกิดการขาดแคลน ราคาแพงขึ้น
คนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ
จะไม่มีใช้ครับ
โพสต์ต่อมาที่ชี้ให้เห็นถึงความประมาทในการควบคุมโรค
จริงๆแล้ว
เรามีเวลาเตรียมตัว นานนับปี
แต่ความขาดแคลน วัคซีน เตียง อุปกรณ์การแพทย์ และ ออกซิเจน ที่เกิดขึ้นในวันนี้
เพราะเรา ประมาท และภูมิใจกับความสำเร็จการควบคุมโรคในช่วงแรก
เลยไม่นึกว่า สถานการณ์มันจะเลวร้ายได้เพียงนี้
ประเทศเราไม่อาจรอดพ้นวิกฤตด้วยพระสยามเทวาธิราช
แต่ด้วย รัฐบาลที่มีความสามารถเพียงพอในการวางแผนรับมือ แก้ไขวิกฤติการณ์
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นแห่กักตุนถังออกซินเจนนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 ที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งจากโพสต์ของคุณหมอนิธิพัฒน์ ประเด็น “กักตุนถังออกซิเจน”
เป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจ เพราะมีการขาดตลาดจากการแห่ซื้อไปตุน ทั้งถังออกซิเจนทางการแพทย์และเครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับใช้ที่บ้าน
ทำให้แผนการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดในชุมชนก่อนส่งต่อเข้าโรงพยาบาลเกิดความไม่สมบูรณ์ เพราะไม่สามารถให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงและร่างกายขาดออกซิเจน ในระหว่างที่รอเตรียมการย้ายเข้ารับการรักษาในรพ.หลัก
การนำออกซิเจนไปใช้เมื่อเริ่มป่วยเป็นโควิด-19 โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และปราศจากการกำกับดูแลของแพทย์ อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อทั่วร่างกายถ้าได้รับออซิเจนมากเกินไป ไม่นับเรื่องความสิ้นเปลืองและการเสี่ยงต่ออัคคีภัยถ้าใช้เป็นถังบรรจุออกซิเจน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำความกระจ่างให้กับประชาชน พร้อมตรวจสอบความเพียงพอของการผลิตและจัดส่งออกซิเจนในทุกพื้นที่ของประเทศ
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ข่าว MGR Online เคยนำเสนอข่าวโดยอ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในอินเดีย ตกอยู่ภายใต้ความกดดัน จากปัญหาขาดออกซิเจนอย่างหนัก จนต้องออกคำเตือนปัญหาการขาดออกซิเจน โดยญาติบางส่วน ต้องหาถังออกซิเจนให้กับผู้ป่วยเอง
ผู้เชี่ยวชาญ ดร.รานดีป กูเลอเรีย (Dr. Randeep Guleria) ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ (AIIMS) ระบุ การที่ประชาชนแตกตื่นกักตุนถังออกซิเจน จะยิ่งทำให้วิกฤตเลวร้ายลง และสับสน นำมาสู่การขาดแคลนในตลาด
อีกทั้ง การแห่ไปซื้อ ออกซิเจน มากักตุน ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะผู้ที่ป่วยโควิด-19 อาการเริ่มต้น เป็นต้นว่า เป็นไข้ เจ็บคอ และปวดเมื่อยตามร่างกายนั้น สามารถรักษาตัวเองจากที่บ้าน โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน
ทั้งนี้ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในไทย ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบ ผู้ติดเชื้อใหม่ 9,186 ราย เสียชีวิตเป็นยอดสูงสุดใหม่ 98 คน
โดยตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย.64 มียอดผู้ป่วยสะสมแล้วทั้งสิ้น 343,352 ราย
อ้างอิงข้อมูล : MGR Online , นิธิพัฒน์ เจียรกุล, Rungsrit Kanjanavanit
ภาพ : Samuel Ramos // Unsplash, SJ Objio // Unsplash
วางแผนทางการเงินเมื่อป่วยโควิด สนใจทำประวัติโควิด-19 กับ Tadoo คลิกที่นี่
- เกรท วรินทร ประกาศหาซื้อถังออกซิเจน ช่วยภัยโควิด
- หมอ โพสต์สะเทือนใจ เตียงเต็ม 100% ออกซิเจนถังสุดท้ายต้องเลือกให้คนไข้
- โควิดไทยวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 9,186 ราย ดับ 98 ศพ