การเงิน

SCB เผย ผลกำไรไตรมาสที่ 1/64 ทำได้ 1 หมื่นล้านกว่าบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ทำการเปิดเผยในส่วนของ ผลกำไรไตรมาสที่ 1/64 โดยทางธนาคารสามารถทำกำไรไปได้ถึง 10,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 9.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อวันวานนี้ (21 เม.ย. 2564) ทางธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ทำหนังสือส่งถึงตลาดหลักทรัพย์ ประกาศถึง ผลกำไรไตรมาสที่ 1/64 โดยสามารถทำได้เป็นจำนวน 10,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 103.2% จากไตรมาสก่อน

Advertisements

ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักสำรองมีจำนวน 22,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการควบคุมการใช้จ่ายของบริษัท

โดยในไตรมาส 1 ของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจํานวน 23,376 ล้านบาท ลดลง 9.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลงในสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ํา แม้ว่าสินเชื่อโดยรวมขยายตัว 8.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต้นทุนทางการเงินปรับตัวลดลง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจํานวน 14, 377ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.2% จากปีก่อนการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นผลของการขยายฐานรายได้ของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการรับรู้กําไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตการลงทุนของธนาคารและบริษัทในเครือ

ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานมีจํานวน 15,101 ล้านบาท ลดลง 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดลงของต้นทุนในการให้บริการจากการใช้ช่องทางดิจิทัลที่มากขึ้นเป็นลําดับ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 1 ของปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัดเป็น 40% เมื่อเปรียบเทียบกับ 44%ในปีก่อน

ในไตรมาส 1 ของปี 2564 ธนาคารได้ตั้งเงินสํารองจํานวน 10,008 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในปีก่อน อย่างไรก็ตามการตั้งเงินสํารองยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าสภาวะปกติ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน

Advertisements

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 3.79% เพิ่มขึ้นจาก 3.68% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลของการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรอบคอบของธนาคารด้วยการการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพและแนวทางการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยคํานึงถึงมูลค่าสินทรัพย์ในระยะยาว

ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 139.6% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.2%

 

แหล่งที่มาของข่าว : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button