ไฟเขียว ชะลอขยายเกษียณอายุราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี เหตุโควิดระบาด
ไฟเขียว ชะลอขยายเกษียณอายุราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี เหตุโควิดระบาด ควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัด
ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 2 มี.ค. 64 ได้มีการพิจารณาข้อเสนอแนะที่ให้ การชะลอหรือทบทวนการขยายเกษียณอายุราชการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม อันเนื่องมาจากประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 20% ของประชากร โดยแนวทางหนึ่งที่ออกมาก่อนหน้านี้ คือ การขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย
ล่าสุด สำนักงาน ก.พ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กรมเสมียนตรา) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรุงเทพมหานคร
โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ว่า
1. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ เรื่อง การชะลอหรือทบทวนการขยายเกษียณอายุราชการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เนื่องจากประเทศกำลังประสบปัญหา การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนระบบการคลังและงบประมาณรัฐบาล จึงควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางก่อนเป็นลำดับแรก และเมื่อประเทศสามารถจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แล้ว จึงสามารถนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
2. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ เรื่อง การจ้างงานเพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกที่หลากหลายในการจ้างงานข้าราชการที่เกษียณอายุราชการควบคู่ไปกับมาตรการขยายอายุเกษียณ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการบุคลากรในแต่ละตำแหน่งหรือสาขา เช่น ตำแหน่งหรือสาขาที่ขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยให้พิจารณาจ้างข้าราชการที่เกษียณอายุราชการในรูปแบบอื่น อาทิ การจ้างเหมาบริการ การรับงานไปทำ เป็นต้น
3. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ เรื่อง การศึกษาเพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้มีการเตรียมความพร้อม โดยการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกันต่อไป