จาตุรนต์ ขอลุงตู่เลิกคิดถึงความมั่นคงของตัวเอง แนะหยุดใช้พรก.ฉุกเฉิน
จาตุรนต์ ขอลุงตู่เลิกคิดถึงความมั่นคงของตัวเอง แนะหยุดใช้พรก.ฉุกเฉิน
วันที่ 13 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก แสดงความเห็น ขอให้ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดใช้พรก. ฉุกเฉิน เนื่องจากส่งผลเสียให้กับประชาชน หลังจากที่มีข่าวว่าจะขยายเวลาเพิ่มออกไปอีก โดยมีความว่า
“พลเอกประยุทธ์เลิกคิดถึงแต่ความมั่นคงของตัวเอง หยุดใช้พรก.ฉุกเฉินได้แล้ว
มีข่าวว่านายกฯ จะให้กอ.รมน.ทำโพลล์ถามประชาชน ว่าจะให้ขยายเวลาการใช้พรก.ฉุกเฉินออกไปอีกหรือไม่ พอมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก ๆ เข้า นายกฯ ทำเหมือนจะถอยในเรื่องมอบหมาย กอ.รมน. แต่ก็ปรากฏว่าผู้ที่กำลังพิจารณาเรื่องการขยายเวลา กลายเป็นสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุข หรือเศรษฐกิจแต่อย่างใดเลย
เรียกว่าเลอะเทอะไปกันใหญ่
ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ก็แบบไต๋ออกมาหมดเปลือก อ้างโพลล์อะไรก็ไม่รู้ ว่าคนส่วนใหญ่อยากให้ต่ออายุการใช้พรก.ฉุกเฉิน แถมบอกว่าแม้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ก็วางใจไม่ได้
หมายความว่าถ้ายังมีโควิด19 อยู่ในโลกนี้ ประเทศไทยก็จะต้องใช้พรก.ฉุกเฉินเรื่อยไป
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้ว ว่าพลเอกประยุทธ์กำลังเสพติดอำนาจที่เกิดจากการใช้พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งคล้ายกับอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่คุ้นชินมาหลายปี และพยายามจะขยายเวลาการใช้พรก.ฉุกเฉินนี้ไปเรื่อย ๆ ผมจึงขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลเสียและผลเสีย (ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ) ของการใช้พรก.ฉุกเฉินอีกสักรอบ
1.การออกคำสั่งต่าง ๆ เช่น การปิดสนามมวย ปิดผับ บาร์ การปิดสถานที่ ปิดกิจการ หรือห้ามทำกิจกรรม การห้ามเดินทางเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง รวมทั้งการห้ามชาวต่างชาติเดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้ามายังประเทศไทย สามารถทำได้โดยอาศัยพรบ.โรคติดต่อ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตามพรก. หากยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉินแล้ว ยังต้องการคงมาตรการใดไว้ ก็สามารถทำได้
2.มาตรการเพียงอย่างเดียวที่อาจต้องใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินคือ การประกาศเคอร์ฟิว แต่ประโยชน์ของการประกาศเคอร์ฟิว ที่แถลงอยู่ทุกวันคือ การจับกุมดำเนินคดีผู้ที่มั่วสุมจัดงานปาร์ตี้ยาเสพติด และผู้เล่นการพนัน ซึ่งความจริงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ที่ตำรวจจะต้องจับกุมดำเนินคดีอยู่แล้ว
3.การประกาศเคอร์ฟิวเป็นประโยชน์น้อยกว่าเป็นโทษ เพราะเป็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ไปทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการแพร่ระบาดน้อย เช่น การตั้งด่าน การบังคับใช้ประกาศเคอร์ฟิว ทำเหมือนบ้านเมืองกำลังมีความไม่สงบจากการจลาจล มากกว่ากำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาด ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดี จนถึงขั้นจำคุกผู้ที่ไปทำงานเกินเวลาบ้าง กลับบ้านไม่ทันเวลาบ้าง แทนที่จะไปห้ามปรามผู้ที่จับกลุ่มมั่วสุม ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน การบังคับใช้กฎหมาย โดยขาดความเข้าใจวัตถุประสงค์ ทำให้มีผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชนจำนวนไม่น้อย
4.การใช้พรก.ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาโรคระบาด ทำให้เกิดการจัดโครงสร้างองค์กรที่ผิดเพี้ยน เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เกิดการใช้หน่วยงานแบบผิดฝาผิดตัวอย่างมาก เช่น ให้สมช.มาเป็นเลขาฯ และล่าสุดกำลังเป็นผู้พิจารณา ว่าจะใช้พรก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ การใช้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาดูแลด้านความสงบเรียบร้อย และเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการห้ามประชาชนเดินทาง ขณะที่โจรผู้ร้ายชุกชุมมากขึ้น กลับใช้ตำรวจไปตรวจร้านอาหาร หรือสถานประกอบการ ว่าปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขหรือไม่ แทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข เป็นต้น
5.การใช้พรก.ฉุกเฉินมากระชับอำนาจของนายกฯ ดึงเอาอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ไปอยู่ที่นายกฯ หมด ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงหลัก ๆ ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ การจัดองค์กรที่ผิดนี้ ทำให้รัฐบาลและระบบราชการทั้งระบบไม่ได้ทำงานอย่างมีบูรณาการ ทั้งในการแก้ปัญหาโควิด19 ที่มีหลายมิติ และการแก้ปัญหาของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน
6.การใช้พรก.ฉุกเฉิน ทำให้การทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ทำลายแนวความคิดที่จะส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจการตัดสินใจ ไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ มีแต่จะแข่งขันกันใช้มาตรการให้เข้มกว่าคำสั่งกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายจังหวัดไม่เคยมีผู้ติดเชื้อ หรือไม่มีมานานแล้ว
7.การออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน จากส่วนกลางก็ดี จากแต่ละจังหวัดก็ดี มีแนวโน้มที่จะไม่สนใจรับฟังความเห็นของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายรุนแรงเกินกว่าเหตุ และเกิดการลุแก่อำนาจได้ง่าย เนื่องจากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่เห็นว่า ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกินกว่าที่จำเป็น
8.การใช้พรก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในการเสนอความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล ทั้งโดยสื่อมวลชนและประชาชน สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย อยู่ในสภาพจำยอม ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง สังคมโซเชียลมีเดียถูกคุกคาม การจัดประชุมหารือเพื่อรวบรวมปัญหาความเดือดร้อน หรือข้อเสนอต่อรัฐบาลไม่สามารถทำได้ แม้แต่คณะกรรมาธิการของสภาไม่ประชุม ก็อ้างพรก.ฉุกเฉิน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถจัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชน การจำกัดสิทธิเสรีภาพนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางทางความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับโควิด19
โดยรวมแล้ว การใช้พรก.ฉุกเฉิน มีผลเสียมากกว่าผลดี ยิ่งต่อไปจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมากยิ่งขึ้นด้วยแล้ว การต่ออายุการใช้พรก.ฉุกเฉินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างที่พลเอกประยุทธ์คิดจะทำอยู่ จะมีผลเสียต่อประเทศชาติอย่างมาก
ที่เสนอความเห็นมานี้ ไม่ได้หวังว่าจะมีผลต่อโพลล์ที่กอ.รมน. หรือสมช.จะทำหรอกครับ โพลล์แบบนั้น ถ้าทำจริง เขาก็คงกำหนดผลล่วงหน้าได้อยู่แล้ว
ถ้าจะหวังประโยชน์จากการเสนอความเห็นนี้อยู่บ้างก็คือ จะได้มีคนช่วยกันบอกพลเอกประยุทธ์ ว่าปัญหาของบ้านเมืองยังมีอีกมาก เลิกคิดถึงแต่การรักษาสถานะและความมั่นคงของตัวเองได้แล้ว”
https://web.facebook.com/Chaturon.FanPage/posts/10158439057512359?__tn__=K-R