ไทยลีก

เผยมาตรการสู้โควิด-19 ของ ฟีฟ่า ถึงลีกฟุตบอลอาชีพทั่วโลก และ ไทยลีก

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) เผยแนวทางการปฏิบัติสำหรับสโมสรทั่วโลก ในการยืดระยะเวลาและปรับปรุงสัญญา ตลอดจนการเลื่อนตลาดซื้อขายของนักกีฬาออกไป ซึ่งมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากการระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้รายการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพเกือบทั่วโลก ต้องเลื่อนแข่งขัน จนส่งผลถึงสโมสร ทั้งในส่วนของรายได้ และสัญญาของนักกีฬาในสังกัด

Advertisements

โดย ฟีฟ่า ในฐานะองค์กรที่ดูแลด้านบริหารจัดการกีฬาฟุตบอลทั่วโลก จึงได้วางแนวทางให้ชาติสมาชิก รวมถึงสโมสรของแต่ละชาติ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปปฏิบัติ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโรคดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็นกรณีต่างๆ ได้แก่

สัญญาที่กำลังจะสิ้นสุดและกำลังจะเริ่มใหม่

โดยปกติแล้ว การเซ็นสัญญา มักจะระบุวันเริ่มต้นและสิ้นสุด ไว้ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเปิด และปิดฤดูกาล ซึ่งจากโควิด-19 ทำให้ลีกของหลายประเทศ ต้องมีการเลื่อนวันปิดฤดูกาลปัจจุบัน รวมถึงอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงวันเปิดฤดูกาลใหม่

สำหรับกรณีนี้ ฟีฟ่า อนุญาตให้สัญญามีการขยายระยะเวลาออกไปได้โดยอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบการย้ายถาวร หรือยืมตัว เช่นเดียวกับการย้ายไปยังสังกัดใหม่ของนักกีฬา ก็จะมีการชะลอออกไป จนกว่าฤดูกาลปัจจุบัน จะสิ้นสุดเช่นกัน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวสามารถใช้ได้กับการย้ายข้ามประเทศด้วย

การปรับปรุงสัญญาเมื่อไม่มีการแข่งขัน

ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้สโมสรไม่มีการแข่งขัน จนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนไม่สามารถทำงานได้นั้น ทางฟีฟ่าได้มีการวางแนวทาง โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักกีฬาและผู้ฝึกสอน ได้เงินค่าจ้างตามสมควร ขณะที่สโมสรต้องไม่ล้มละลาย และหลีกเลี่ยงการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ให้ยึดตามกฎหมายของแต่ละประเทศเป็นหลัก

ฟีฟ่า สนับสนุนให้สโมสร กับนักกีฬาและผู้ฝึกสอน ทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของเงื่อนไขสัญญาการจ้างงาน สำหรับช่วงเวลาที่ต้องงดแข่ง

ซึ่งเงื่อนไขสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้เฉพาะช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังสามารถระงับสัญญา ระหว่างช่วงเวลาที่งดการแข่งขันได้ แต่ต้องมีการตกลงกันในเรื่องความช่วยเหลือต่างๆ ตามสมควร

Advertisements

สำหรับการปรับปรุงสัญญาจ้างงานใดๆ นั้น ฟีฟ่า จะไม่ยอมรับการปรับปรุงสัญญา ที่มาจากการตัดสินใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว โดยขาดการเห็นชอบจากอีกฝ่าย เว้นเสียแต่ทำตามกฎหมายของประเทศ

หากสโมสรกับนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอน ไม่สามารถตกลงกันได้ หรือกฎหมายในประเทศไม่ได้ครอบคลุมไว้ สภาแก้ไขข้อพิพาท (Dispute Resolution Chamber – DRC) และ คณะกรรมการด้านสถานภาพของนักกีฬา (Players’ Status Committee – PSC) ของฟีฟ่า จะทำการพิจารณาตามปัจจัยต่อไปนี้

  1. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสโมสร
  2. สัดส่วนของเงินเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง
  3. รายได้สุทธิของนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอน หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเงินเดือน
  4. การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเงินเดือน มีผลต่อนักกีฬาทั้งทีม หรือเฉพาะแค่บางราย
  5. สโมสรมีความตั้งใจจริง ที่จะพยายามทำให้ข้อตกลง มีการบรรลุร่วมกันกับนักกีฬาและผู้ฝึกสอนหรือไม่

เปลี่ยนแปลงกำหนดการเปิด-ปิดลงทะเบียนตลาดนักเตะ

ฟีฟ่า อนุญาตให้ชาติสมาชิก มีการเปลี่ยนกำหนดการ หรือยืดระยะเวลาเปิด-ปิดตลาดซื้อขายนักเตะ ทั้งนี้ ต้องมีการกำหนดวันจบฤดูกาลให้เรียบร้อย และได้รับการเห็นชอบจากฟีฟ่าเสียก่อน

อย่างไรก็ดี หากมีนักกีฬาที่ถูกยกเลิกสัญญาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถลงทะเบียนนักกีฬานอกกำหนดการตลาดซื้อขายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button