ข่าวภูมิภาค

รู้จักเรือพระราชพิธี ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

รู้จักเรือพระราชพิธี ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เรือพระราชพิธี – วันที่ 12 ธันวาคม 2562 จะมีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยมีประชาชนร่วมเดินทางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นจำนวนมากตามจุดต่าง ๆ ที่ทางการจัดไว้ให้ เพื่อชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และชมความวิจิตรงดงามของขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค

ทั้งนี้ ผู้ชมทั่วประเทศและทั่วโลกสามารถรับชมถ่ายทอดสดได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้ตั้งแต่เวลา 15.15 น. เป็นต้นไป และเพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างความรับชม ผู้ชมควรทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลของเรือในพระราชพิธี ซึ่ง The Thaiger รวบรวมข้อมูลมาให้ดังนี้

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นพิธีเบื้องปลาย มีการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา กําลังพลฝีพาย จํานวน 2,200 นาย แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำมีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอกเรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองในพร้อมด้วยเรือตำรวจนอกและเรือตำรวจ

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่งมีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาตเรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ

เรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา ซึ่งเรือทุกลําทำจากไม้ มีอายุในการสร้างมาก โดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง ทั้ง 3 ลํา มีอายุมาก กล่าวคือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 102 ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 95 ปี ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2539 มีอายุ 23 ปี ส่วนเรืออื่น ๆ ในขบวน โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์แต่ละลํา มีอายุการสร้างนับร้อยปี

 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 ตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2091 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีชื่อเรือพระที่นั่ง สุวรรณหงส์ สมัยรัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2325 – 2352) ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่ง สุวรรณหงส์ และ รัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394) ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่ง ศรีสุพรรณหงส์

หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535

ภาพจาก: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แปลว่า ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย ในฮินดูปกรณัมปรัมปรา อนันตะ หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ เป็นผู้ที่มีเศียรหนึ่งพัน และ (ประดับด้วย) อัญมณีหนึ่งพันที่ส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394) แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394 – 2411)
ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2453 – 2468) และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2457

คัมภีร์ปุราณะของอินเดียกล่าวว่า อนันตะอาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง 7 ชั้น และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว บางคัมภีร์อธิบายว่า อนันตะมีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกิ (ไทยเรียกวาสุกรี) ซึ่งมีเจ็ดเศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ 7 อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย

มีความเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ดังนั้นพระองค์จึงควรมีเรือพระที่นั่งเป็นพญาอนันตนาคราชซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่า พระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในช่วงกาลดับสลายและเริ่มต้นการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่

หัวเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จำหลักรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน เรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน

ภาพจาก: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9

นารายณ์ทรงสุบรรณ ที่เติมสร้อยว่า รัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394) โดยสมัยรัชกาลที่ 9 สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2539

หัวเรือพระที่นั่งจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ บ่งบอกอิทธิพลศาสนาฮินดูตามคัมภีร์ปุราณะจากอินเดียที่มีต่อประเพณีนิยมและศิลปกรรมไทย พระวิษณุเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญที่สุด 3 องค์ อีก 2 องค์ คือพระพรหมและพระศิวะ พระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์รักษา พระองค์ถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ในรูปร่างต่างๆ เรียกว่า อวตาร เชื่อกันว่าทรงแบ่งภาคลงมากำเนิดเป็นพระราชาได้ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา

โขนเรือพระที่นั่งลำนี้ได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑเจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

เรือนารายณ์ทรงสุบรรณที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน

ภาพจาก: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ชื่อเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ตรงกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 (พุทธศักราช 2411 – 2453) ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระเจ้าอยู่หัวก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ เรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติเมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 61 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือ โดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

ภาพจาก: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

ขอขอบคุณข้อมูล และสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มได้จาก : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button