ข่าวภูมิภาค

ชาวบ้านต.กะรน พบเหยี่ยวแดงบาดเจ็บ จนท.ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯช่วยเหลือ ก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ

ชาวบ้านต.กะรน พบเหยี่ยวแดงบาดเจ็บ แจ้งจนท.ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯก่อนส่งสัตว์แพทย์ให้การช่วยเหลือ ล่าสุดอาการดีขึ้น รอพักฟื้นก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 เม.ย.62 นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและ สัตว์ป่าเขาพระแทว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้เดินทางไปที่คลินิกอานนท์สัตวแพทย์ ตำบลศรีสุนทร อำเภอ ถลาง ภูเก็ต เพื่อติดตามอาการของเหยี่ยวแดง เต็มวัยที่ได้รับบาดเจ็บ หลังจากที่มีชาวบ้านพบและทำการช่วยเหลือได้ บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 เม.ย.62 ที่ผ่านมา และได้ประสานมายังหัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและ สัตว์ป่าเขาพระแทว ก่อนนำมาส่งมอบให้สัตวแพทย์ช่วยทำการรักษาในวันนี้

โดยเบื้องต้นเหยี่ยวแดงตัวดังกล่าว มีบาดแผลคล้ายรอยถูกกัดบริเวณใต้ปีก ไม่สามารถบินเองได้ สัตวแพทย์ได้ทำการรักษาบาดแผล ให้ยาและกักตัวเพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้พบว่าเริ่มมีอาการดีขึ้นแต่จะต้องทำการพักฟื้นและดูแลจนกว่าขนใต้ปีกจะขึ้นเต็ม ก่อนจะนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

สำหรับเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เป็นนกที่สามารถพบได้หลายพื้นที่ โดยจะพบได้ตามแถบชายฝั่งน้ำ, ที่ราบทุ่งนา, ป่าโปร่ง, ปากอ่าว, ชายฝั่งทะเล รวมถึงเกาะเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบอยู่ใกล้หมู่บ้าน โดยถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนประการหนึ่ง ลักษณะพฤติกรรมของเหยี่ยวแดงชอบบินอยู่ตัวเดียวหรือ เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เมื่อพบอาหารมันจะบินเป็นวงกลม พร้อมกับบินดิ่งควงลงมา โฉบอาหารนั้นขึ้นไปกินบนต้นไม้สูงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ อาหารได้แก่ กบ เขียด งู นก แมลง หนู ลูกเป็ด ลูกไก่ สัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เหยี่ยวแดง ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ทำรังตามกิ่งไม้ใกล้แหล่งน้ำ วางไข่ครั้งละ 2 – 4 ฟอง ไข่สีขาวไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่นาน 29 – 31 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button