ข่าว

iTAX ชวนคนไทยเข้าชื่อ แก้รัฐธรรมนูญ ถอดถอนองค์กรอิสระ ทวงอำนาจประชาชน

iTAX ชวนคนไทยเข้าชื่อ แก้รัฐธรรมนูญ ทวงอำนาจประชาชน ถอดถอนองค์กรอิสระ ตั้งเป้าหมาย 5 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าว รายงาน iTAX Thailand ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันด้านภาษีชื่อดัง ประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “เข้าชื่อเสนอกฎหมาย” เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทวงคืนอำนาจในการตรวจสอบและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ทีมงาน iTAX ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า แคมเปญนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่พอใจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้เสียภาษีถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่หน่วยงานที่นำเงินภาษีไปใช้ โดยเฉพาะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับแทบไม่เคยถูกตรวจสอบจากภาคประชาชน

iTAX ชี้ว่า องค์กรเหล่านี้ใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบที่ยึดโยงกับเจ้าของเงินภาษี พร้อมยกตัวอย่างกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มซึ่งมีผู้เสียชีวิต แต่เรื่องกลับเงียบหายไปโดยไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

ต้นเหตุของปัญหานี้ถูกระบุว่ามาจากการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้ตัดสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นสิทธิที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ทำให้กลไกการตรวจสอบโดยประชาชนขาดหายไป

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ iTAX ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในแอปพลิเคชันเวอร์ชันล่าสุด (4.15.15) ให้ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างสะดวกใน 3 ขั้นตอน ดังนี้

  • อัปเดตแอปพลิเคชัน iTAX เป็นเวอร์ชันล่าสุด
  • เลือกเมนู “เข้าชื่อเสนอกฎหมาย”
  • กด “Start” และกรอกข้อมูลเพื่อยืนยันการเข้าชื่อสนับสนุน
ดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น iTAX ได้ทาง Play store และ Apple Store
ดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น iTAX ได้ทาง Play store และ Apple Store

“เราเชื่อว่าผู้ใช้งาน iTAX หลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน ถ้าคุณเคยโกรธ เคยท้อแท้ การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือการแสดงพลังว่า นอกจากยื่นภาษีแล้วคุณยังใช้เสียงของตัวเองกำหนดอนาคตของประเทศนี้ได้ด้วย” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

iTAX ตั้งเป้าหมายรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 คนแรก เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเสนอกฎหมายอย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำว่าหากประชาชนมีอำนาจในการปลดผู้ดำรงตำแหน่งได้ จะทำให้องค์กรเหล่านั้นตระหนักและรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ที่มา: iTAX Thailand

องค์กรอิสระ กลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ ท่ามกลางข้อวิจารณ์ ไม่อิสระจริง

องค์กรอิสระในไทย ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ผลพวงมาจากการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ แนวคิดหลักคือการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐบาลและรัฐสภา) โดยให้องค์กรเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

รัฐธรรมนูญปี 2560 (หมวด 12) กำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจน คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม การสรรหา การแต่งตั้ง และการมีหน่วยธุรการเอง เพื่อให้ดำเนินงาน “โดยปราศจากการแทรกแซง” การสรรหากรรมการในองค์กรอิสระถูกจัดการผ่านคณะกรรมการสรรหา แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบก่อนแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระ 5 องค์กร กรรมการในแต่ละองค์กรมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว มีหน้าที่หลักดังนี้

  1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

หน้าที่ จัดการและควบคุมการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ (สส., สว.) ไปจนถึงระดับท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมถึงการให้ใบเหลือง-ใบแดงแก่นักการเมือง และการพิจารณายุบพรรคการเมือง

2. ผู้ตรวจการแผ่นดิน

หน้าที่ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ากฎหมายหรือข้อบังคับใดสร้างภาระให้ประชาชนเกินควร สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

หน้าที่ ไต่สวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

5. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

หน้าที่ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปอย่างมีวินัย คุ้มค่า และโปร่งใส เพื่อป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยมิชอบ

6. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

หน้าที่ ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการแก้ไขต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนในสังคม

แม้จะมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่องค์กรอิสระก็เผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องที่มาและกระบวนการสรรหา เนื่องจากคณะกรรมการสรรหามีกรรมการที่มาจากประธานศาลและองค์กรอิสระด้วยกันเอง ทำให้เกิดคำถามเรื่อง “การเลือกกันเอง” และการขาดการยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง หลายฝ่ายมองว่าโครงสร้างนี้ทำให้ได้บุคคลที่มาจากแวดวงข้าราชการประจำหรือฝ่ายตุลาการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจมีมุมมองที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

องค์กรอิสระมักถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะ กกต. และ ป.ป.ช. ที่การวินิจฉัยในหลายกรณีถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม หรือมุ่งเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรลดลงในสายตาของสาธารณชน

อำนาจที่มากเกินไปและขาดการตรวจสอบ คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระบางแห่งมีผลผูกพันทุกองค์กรและมีสภาพเป็นที่สุด ทำให้เกิดข้อกังวลว่าเป็นการใช้อำนาจที่มากเกินไปโดยไม่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งสวนทางกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจทุกฝ่ายควรถูกตรวจสอบได้

บางองค์กร เช่น กสม. ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีอำนาจบังคับบัญชา ทำได้เพียงเสนอแนะ ทำให้การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่บางองค์กรถูกมองว่าทำงานล่าช้า หรือเลือกปฏิบัติในการจัดการกับบางคดี

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx