
ประกาศ กสทช. ฉบับใหม่ ตัด “ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย” ออกจากกฎ Must Have คนไทยไม่จำเป็นต้องดูฟรี
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (ฉบับที่ 2)
ระบุว่า “โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เพื่อให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมการรับชมบริการโทรทัศน์และสภาพอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจบัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (6) และ (24) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 บรรดาประกาศ ระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือคำสั่งอื่นใด ในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน
ข้อ 3 ให้ยกเลิกภาคผนวก รายการโทรทัศน์ที่กำหนด ตามข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร์ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2555 และให้ใช้ภาคผนวก รายการโทรทัศน์ที่กำหนด ตามข้อ 3 ท้ายประกาศนี้แทน
ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
รายการกีฬา ที่ยังอยู่ในกฎ Must Have ฉบับใหม่ มี 6 ชนิดกีฬา ดังนี้
1. การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (South-East Asian Games, SEA Games)
2. การแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
3. การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)
4. การแข่งขันกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
5. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
6. การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)
อธิบาย กฎหมาย “Must Have” กับ “Must Carry” คืออะไร
กสทช. ออกกฎทั้ง 2 ชุด เพื่อคุ้มครองสิทธิในการรับชมของประชาชนไทย Must Have บังคับให้ผู้ถือสิทธิถ่ายทอดมหกรรมกีฬาระดับชาติ-นานาชาติ ต้องเปิดให้คนไทยดูฟรีทุกแพลตฟอร์ม
ส่วน Must Carry กำหนดให้ทุกระบบรับ–ส่งสัญญาณ (เคเบิล ดาวเทียม IPTV ฯลฯ) ต้องนำช่อง TV ดิจิทัล “ขึ้นผัง” โดยห้ามตัดต่อหรือเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม แม้ต้นทางจะเป็นฟรีทีวีก็ตาม จุดประสงค์หลักคือให้คนไทยเข้าถึงคอนเทนต์สำคัญได้เท่าเทียม แต่ก็สร้างแรงกดดันด้านต้นทุน-ลิขสิทธิ์แก่สถานีโทรทัศน์และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมาตลอด
ความเป็นมา เริ่มใช้ปี 2556 ตามประกาศ กสทช. เพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” ให้ประชาชนได้ชมมหกรรมกีฬาสำคัญฟรีกำหนด 7 อีเวนต์ ได้แก่ ฟุตบอลโลก, โอลิมปิก, พาราลิมปิก, เอเชียนเกมส์, อาเซียนเกมส์, ซีเกมส์ และอาเซียนพาราเกมส์ ปัจจุบันตัดฟุตบอลโลกออกแล้ว
ผู้ได้สิทธิถ่ายทอดในไทย ต้อง ส่งสัญญาณสดให้ช่องทีวีดิจิทัลทั่วไปแพร่ภาพ ห้ามเข้ารหัส หรือจำกัดชมเฉพาะลูกค้าเสียเงิน
หากเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ OTT ของสถานีเอง ยังต้องปล่อยให้ดูฟรี อาจมีโฆษณาได้
อย่างไรก็ดี กฎนี้เพิ่มภาระต่อผู้ซื้อสิทธิ เพราะขายโฆษณา/หาสปอนเซอร์ชดเชยยาก แต่ประชาชนได้ชมกีฬาระดับโลกฟรีทุกบ้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สส.ไอซ์ แฉตึก กสทช. งบ 2600 ล้าน สร้างตั้งแต่ปี 62 ยังไม่เสร็จ (คลิป)
- กสทช. สั่ง ทีวีทุกช่อง ต้องตัดเข้าสด “ทีวีพูล” ทันที ถ่ายทอดเหตุสำคัญ
- กรรมการ กสทช. พ้อ แผ่นดินไหวทำอะไรไม่ได้ ต้องรอประธานสั่งการก่อน
ติดตาม The Thaiger บน Google News: