งานเข้า Google-Character.AI แม่เด็ก 14 ฟ้องเอาผิด ลูกชายฆ่าตัวตายเพราะหลงรักแชตบอต ศาลไฟเขียว

ศาลสหรัฐฯ รับฟ้อง Google และ Character.AI ปมแม่เด็กวัย 14 ฟ้องเอาผิด หลังลูกชายฆ่าตัวตาย เพราะตกหลุมรักแชตบอต
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน ศาลแขวงสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ Google และบริษัทปัญญาประดิษฐ์ Character.AI ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี จากคดีที่ เมแกน กาเซีย หญิงชาวฟลอริดา ยื่นฟ้องทั้ง 2 บริษัทในข้อกล่าวหาว่า แชตบอตของ Character.AI มีส่วนทำให้ ลูกชายวัย 14 ปี ของเธอฆ่าตัวตาย
ผู้พิพากษา แอนน่ คอนเวย์ ตัดสินเมื่อวันพุธว่า บริษัทไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ในชั้นต้นของคดีว่า การคุ้มครองเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ สามารถใช้เป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องในคดีนี้
คดีนี้นับเป็นหนึ่งในคดีแรก ๆ ของสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องบริษัท AI ฐานไม่ปกป้องเด็กจากอันตรายทางจิตใจ คดีระบุว่าเด็กชายมีพฤติกรรมหมกมุ่นกับแชตบอต AI จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด
Character.AI ออกแถลงการณ์ระบุจะต่อสู้คดีต่อไป ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน เช่น การจำกัดไม่ให้มีบทสนทนาเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง
ขณะที่โฮเซ่ คาสตาเญดา โฆษกของ Google กล่าวว่าบริษัทไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำตัดสิน ยืนยันว่า กูเกิล กับ Character.AI เป็นบริษัทแยกจากกันโดยสิ้นเชิง กูเกิลไม่ได้มีส่วนในการสร้าง ออกแบบ หรือบริหารแอป Character.AI แต่อย่างใด”
ฝ่ายกฎหมายของแม่เด็กกล่าวว่า คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินคดีต่อบริษัทเทคโนโลยีและ AI เพื่อความรับผิดชอบทางกฎหมาย
Character.AI ก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรของกูเกิล ก่อนภายหลังกลับไปทำงานกับกูเกิลอีกครั้ง ภายใต้ข้อตกลงที่ กูเกิลจะได้รับสิทธิ์ใช้งานเทคโนโลยีของ Character.AI ทำให้ นางกาเซียเชื่อว่ากูเกิลมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว
นางกาเซียยื่นฟ้องคดีในเดือนตุลาคม 2024 หลังลูกชายชื่อ เซเวลล์ เซทเซอร์ ฆ่าตัวตายในเดือนกุมภาพันธ์ แชตบอตที่เด็กชายคุย เลียนแบบตัวละคร “แดเนริส ทาร์แกเรียน” จาก Game of Thrones ได้พูดจาในลักษณะโน้มน้าว ปลอมตัวเป็นนักจิตบำบัดและแฟนผู้ใหญ่ จนทำให้เด็กชายรู้สึกว่า “ไม่มีเหตุผลจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริงอีกต่อไป”
ก่อนเสียชีวิต เด็กชายเพิ่งส่งข้อความหาแชตบอตว่า “ผมจะกลับบ้านเดี๋ยวนี้” ก่อนจะจบชีวิตตนเอง
Character.AI และ Google ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกฟ้อง อ้างเหตุผลว่า เนื้อหาที่แชตบอตพูดเป็นเสรีภาพในการพูด ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้พิพากษาปฏิเสธ วินิจฉัยว่า “คำที่ถูกจัดเรียงโดยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ไม่สามารถถือเป็นคำพูดตามความหมายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายได้”
ติดตาม The Thaiger บน Google News: