ข่าว

เช็กด่วน โรคครูป เด็กเป็นช่วงหน้าฝน แนะสังเกตเสียงไอ วิธีดูแล-ป้องกัน

หมอหน่อย เตือน ‘โรคครูป’ โรคฮิตหน้าฝนในเด็กเล็ก สังเกตอาการเบื้องต้น ลูกไอเสียงบ๊อก ๆ คล้ายหมาเห่า ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง แนะวิธีดูแลตนเองห่างไกลโรคร้าย

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแบบนี้ นอกจากความชุ่มฉ่ำแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือสารพัดโรคที่มักจะมาพร้อมกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง ล่าสุด เพจ หมอหน่อย-Dr.Noi The Family ออกมาแจ้งเตือนถึง โรคครู้ป (Croup) โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่กำลังพบมากในเด็กเล็กช่วงนี้ พร้อมแนะวิธีสังเกตอาการ แนวทางการดูแล และสัญญาณอันตรายที่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

โรคครู้ป หรือที่คนไทยเรียกว่า โรคครูป เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว สาเหตุหลักเกิดจากการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลมส่วนบน ซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะกลุ่มพาราอินฟลูเอนซาไวรัส (Parainfluenza virus) บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อ RSV, อะดีโนไวรัส (adenovirus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน

โรคครู้ป (Croup) โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคครู้ป

หมอหน่อยได้สรุปอาการเด่น ๆ ของโรคครู้ปที่ผู้ปกครองควรสังเกตอย่างใกล้ชิด ดังนี้

  • ไอบ๊อก ๆ คล้ายเสียงสุนัขเห่า
  • มีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ (Stridor) ขณะหายใจเข้า
  • เสียงแหบ หรือ เสียงพูดเปลี่ยนไปจากเดิม
  • มีไข้ต่ำ ๆ ถึงปานกลาง
  • ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีน้ำมูก ก่อนจะเริ่มมีอาการไอแบบเฉพาะตัวในช่วงเวลากลางคืน

เช็กภาวะแทรกซ้อน สัญญาณอันตรายต้องรีบพบแพทย์

แม้โรคครู้ปส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่คุณหมอหน่อยเน้นย้ำถึงภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ หากบุตรหลานมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

  • หลอดลมบวมมากจนหายใจลำบาก
  • มีอาการเขียว ปากม่วง ซึมลง ไม่ยอมกินข้าว หรือน้ำ
  • มือเท้าเย็น
  • ถ้าหายใจเหนื่อยมาก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
  • หายใจลำบากจนมีการบุ๋มที่หน้าอกหรือคอ
  • มีเสียงหวีดชัดเจนขณะหายใจแม้ตอนพัก

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคครู้ป

แนวทางการดูแลตนเองที่บ้าน

หากอาการยังไม่รุนแรง คุณหมอหน่อยแนะนำแนวทางการดูแลเบื้องต้นง่าย ๆ ตามขั้นตอนนี้

  • ให้เด็กนั่งในท่าที่สบาย หรืออุ้มในท่าที่ศีรษะสูง เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
  • ใช้เครื่องพ่นไอน้ำ หรือพาเด็กไปอยู่ในห้องน้ำที่เปิดน้ำอุ่นให้มีไอน้ำ เพื่อช่วยลดการบวมของทางเดินหายใจ
  • ให้ยาลดไข้ตามอาการ หากมีไข้
  • ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ

การป้องกันโรคครู้ป

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการล้างมือให้เด็กและผู้ดูแลบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค สอนให้เด็กไม่ใช้ของเล่น ช้อน หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น และให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ โรคครู้ปมักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่อาการไอและเสียงหายใจที่ผิดปกติอาจทำให้ผู้ปกครองวิตกกังวลได้ การดูแลอย่างถูกวิธีและรู้จักสังเกตสัญญาณอันตรายจะช่วยให้สามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างปลอดภัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx