ข่าว

เช็กเงื่อนไข 3 ข้อผ่อนปรน กฎหมายสุราใหม่ เบียร์สด-คราฟต์เบียร์ขายทั่วไทยได้

ครม. ไฟเขียวร่างกฎหมายสุราใหม่ ปลดล็อก 3 เงื่อนไขสำคัญ: เบียร์สด-คราฟต์เบียร์บรรจุถัง Keg ขายได้ทั่วประเทศ, ผ่อนปรนระยะห่างแหล่งน้ำโรงสุราเล็ก-กลาง, รายใหม่โดดข้ามขั้นตั้งโรงสุราขนาดกลางได้เลย มุ่งหนุนรายย่อย-สุราชุมชน ต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฉบับใหม่ ตามการเสนอของกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต นับเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เดิม เปิดช่องทางให้ผู้ผลิตเบียร์สด คราฟต์เบียร์ และสุราชุมชน สามารถขยายตลาดได้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ มี 3 เงื่อนไขสำคัญที่ได้รับการผ่อนปรน ซึ่งผู้ประกอบการและผู้สนใจควรพิจารณารายละเอียดดังนี้

1.เปิดเสรีเบียร์สด-คราฟต์เบียร์ จำหน่ายนอกสถานที่ผลิต

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการสุราแช่ชนิดเบียร์ โดยเฉพาะโรงเบียร์ประเภท Brew Pub ผู้ผลิตเบียร์สด และคราฟต์เบียร์ สามารถบรรจุผลิตภัณฑ์ลงในถัง Keg สแตนเลส เพื่อนำออกไปจำหน่ายนอกสถานที่ผลิตได้ทั่วประเทศ

จากเดิมที่ถูกจำกัดให้ขายได้เฉพาะในสถานที่ผลิตหรือในจังหวัดที่ตั้งโรงงานเท่านั้น การปลดล็อกนี้จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล

2. คลายปมระยะห่างแหล่งน้ำสำหรับโรงสุราขนาดเล็ก-กลาง

ผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องสถานที่ตั้งโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็กและขนาดกลาง จากเดิมที่กำหนดว่าต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 100 เมตร ปรับแก้ให้สามารถตั้งอยู่ใกล้กว่าระยะดังกล่าวได้

หากโรงงานมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ช่วยลดข้อจำกัดด้านทำเลที่ตั้งสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสุราชุมชนที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่

3. เปิดทางลัดรายใหม่สู่โรงสุราขนาดกลาง

เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพ สามารถยื่นขอใบอนุญาตผลิตสุราในระดับขนาดกลางได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องเคยได้รับใบอนุญาตผลิตสุราในระดับขนาดเล็กมาก่อนเป็นระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขเดิม

เป็นการลดขั้นตอนและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความพร้อมสามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เช็กเงื่อนไข 3 ข้อผ่อนปรน กฎหมายสุราใหม่ เบียร์สด-คราฟต์เบียร์ขายทั่วไทยได้

การปรับปรุงกฎกระทรวงการผลิตสุราในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเดิมเพื่อต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น สุราชุมชน ควบคู่ไปกับการยกระดับบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ การบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ว่า ถือเป็นการ “เปิดทางใหม่” ให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มคราฟต์เบียร์และสุราชุมชน ได้เข้าถึงตลาดอย่างกว้างขวางและมีโอกาสแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

กรมสรรพสามิตได้ทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและขนาดกลางอย่างรอบด้าน รวมถึงเปรียบเทียบรูปแบบการกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พร้อมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์เป็นไปอย่างเหมาะสมและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการลดข้อจำกัดทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและสมดุล

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตยังเตรียมเดินหน้าแก้ไขข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อ “สุราชุมชน” อีกหลายประเด็นในเร็ว ๆ นี้ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากและการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดเศรษฐกิจใหม่ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างเต็มรูปแบบ ดังที่นายเผ่าภูมิ กล่าวทิ้งท้ายว่า “นี่คือการสนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้านให้เป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของชาติ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx